Credit : University of Bath

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ ร่วมมือกับนักวิจัยในเกาหลีใต้ พัฒนาเครื่องมือแบบใหม่ที่จะช่วยให้นักชีววิทยาที่ศึกษาโรคมะเร็งและโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ สามารถใช้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะขยายความเข้าใจกระบวนการทางชีววิทยาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายอันมีมูลเหตุมาจากออกซิเจน หรืออนุมูลอิสระออกซิเจน (Reactive Oxygen Species–ROS)

ทีมวิจัยอธิบายว่าได้สร้างวงศ์โมเลกุลใหม่ชื่อว่า AzuFluor ที่มีพื้นฐานเป็นสารอินทรีย์อะซูลีน (Azulene) ซึ่งเป็นสารเคมีสีน้ำเงินสดใสที่พบในเห็ดน้ำนมสีคราม (Lactarius indigo) มีคุณสมบัติเรืองแสงเมื่อสัมผัสกับอนุมูลอิสระออกซิเจน และมาออกแบบเครื่องมือเรืองแสงเพื่อตรวจจับอนุมูลอิสระออกซิเจน (ROS) ตามแบบสารเคมีที่พบในเห็ดชนิดดังกล่าว ซึ่งการมุ่งเน้นศึกษาที่อนุมูลอิสระออกซิเจน ก็เพราะหากมีอนุมูลอิสระออกซิเจนที่มากเกินไปในเซลล์จะสร้างความเสียหายและสามารถนำไปสู่โรคมะเร็ง รวมถึงโรคทางระบบประสาทได้

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้กับทำงานในเนื้อเยื่อของหนูทดลอง แต่ยังไม่มีการทดสอบกับมนุษย์ ทว่านักวิจัยก็หวังว่าในอนาคตจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ รวมถึงอาจนำไปใช้งานที่หลากหลายในด้านชีววิทยาของเซลล์และอุตสาหกรรมยา.