ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่ผ่านมาหลายคนอาจคิดว่าไม่ได้มีผลกระทบมากเท่ากับเรื่องการเข้าถึงยา แต่ในปี 2562 มีการรณรงค์อย่างหนักในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะว่า หากเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเลย ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องเป็นเรื่องหนึ่งในเรื่องของการใช้ยาให้สมเหตุผล จากการประเมินถือว่าประชาชนมีความเข้าใจและตื่นตัวกันมากขึ้น แพทย์ก็เริ่มตื่นตัว เพราะประชาชนถามกันมากว่า จำเป็นต้องใช้หรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็อยู่ระหว่างประเมินว่า ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งปี 2563 ยังคงต้องกระตุ้นเรื่องนี้กันต่อไป
ผู้จัดการ กพย.กล่าวต่อไปว่า ปี 2563 นอกจากจะย้ำเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องแล้ว มองว่าต้องทำในเรื่อง 1.ข่าวปลอม (เฟกนิวส์) ด้านสุขภาพและการใช้ยามากขึ้น เพราะเป็นต้นเหตุของการใช้ยาไม่สมเหตุผล 2.การรับประทานยาเรื้อรังโดยไม่จำเป็น จนทำให้เกิดโรคไต เช่น การใช้ยาเอ็นเสดแก้ปวด ซึ่งนอกจากปัญหาในยาชุดแล้ว แม้แต่ในโรงพยาบาล แพทย์ก็ยังมีการจ่ายยาเอ็นเสดแบบระยะยาว เช่น 3 เดือน ซึ่งยาช่วยแค่บรรเทาอาการ แต่ไม่ได้หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น กระดูกผุจะยับยั้งอย่างไร ต้องผ่าตัดหรือไม่ หรือทำกายภาพร่วมด้วย ซึ่งการกินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะเกิดปัญหาตามมาได้ 3.การสั่งจ่ายยาข้ามขั้น เช่น กลุ่มยาลดไขมัน ที่บางครั้ง ให้ไปกินยาแรงและแพงกว่า รวมไปถึงเรื่องของการส่งเสริมการขายยาในโรงพยาบาล ที่มีผลกระทบต่อแพทย์ในการเลือกสั่งจ่ายยา ทั้งนี้ การสร้างความรอบรู้เรื่องยา น่าจะทำใน 2 แบบ คือ การให้ความรู้ทั่วไปเรื่องยาโดยรวม และการให้ยาจำเป็นที่จะต้องใช้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เองก็มีการประกาศให้เป็นแผนบริการสุขภาพในเรื่องของการใช้ยาสมเหตุผลในชุมชน และในวันที่ 26-28 ม.ค. จะจัดงานการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผลนานาชาติ คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลมากขึ้นในปี 2563.
...