เหตุเขื่อนใหญ่-แห้งขอด น้ำทะเลหนุนถึงปทุมธานี

ทั้ง “แล้ง” ทั้ง “เค็ม” ลามนนทบุรี-ปทุมธานี ประปา รังสิตร่อนเอกสารถึงหมู่บ้านในเขตธัญบุรี คลองหลวง ลำลูกกา ใช้น้ำประหยัด น้ำดิบไม่พอผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคต้องลดจ่ายน้ำบางช่วง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ แฉ 4 เขื่อนเจ้าพระยาน้ำไม่พอทำการเกษตร ซ้ำเจอน้ำเค็มรุกตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.สาเหตุจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ เพราะอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง กระทบการผลิตน้ำประปา ชี้ค่าความเค็มเกินมาตรฐาน เมืองนนท์ สมุทรปราการเค็มพุ่งถึง 5-15 กรัมต่อลิตร ไหลเข้าสู่คลองสาขาของนนทบุรี กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก สมุทรปราการ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เผยพื้นที่เสี่ยง ภัยแล้ง 38 จังหวัด สำรวจหมู่บ้านเกือบ 3,000 หมู่บ้านที่จะขาดน้ำประปา เร่งเจาะบ่อบาดาลช่วยเกษตรกร

ภัยแล้งลามถึงกรุงเทพฯ–ปทุมฯ

สถานการณ์ภัยแล้งคุกคามหนัก ล่าสุดลามเข้า กรุงเทพฯแล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) ได้ส่งเอกสารถึงหมู่บ้านต่างๆในเขตรังสิต บริเวณถนนธัญบุรี หรือเส้นรังสิต-นครนายก อ.ธัญบุรี อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระบุว่า เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงเป็นบางเวลา ทำให้น้ำมีค่า ความเค็มสูงเกินมาตรฐาน การประปาส่วนภูมิภาคสาขารังสิต (ชั้นพิเศษ) มีความจำเป็นต้องหยุดสูบน้ำดิบ เพื่อการผลิตน้ำประปาในบางช่วงเวลา ส่งผลให้น้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคและบริโภค ดังนั้น จึงขอลดแรงดันการ จ่ายน้ำบางช่วงเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและค่าความเค็มของน้ำประปาจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะสิ้นสุด ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดังกล่าวโปรดใช้น้ำอย่างประหยัด

...

สสน.ยันปีนี้แล้งหนักมาก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ได้รับ รายงานจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) หน่วยงานในสังกัดที่วิเคราะห์ข้อมูลน้ำให้หน่วยงาน ต่างๆนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2563 หนักมาก เพราะตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.ปี 2562 ปริมาณฝนโดยรวมของประเทศไทยน้อยกว่าค่าปกติ 18% โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคเหนือและภาคกลาง มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 24% บางพื้นที่มีค่าน้อยกว่าปกติถึง 800 มิลลิเมตร แม้หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเกิดเหตุน้ำท่วมหนักจากพายุโพดุล แต่ก็เป็นฝนตกหนักเพียงตอนล่างของลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลเท่านั้น

เขื่อนใหญ่มีน้ำเก็บกักน้อย

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ทางต้นน้ำไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนมากนัก ทำให้ภาพรวมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีน้ำเก็บกักน้อยมาก ปัจจุบันมีเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 9 เขื่อน คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนป่าสัก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเขื่อนอุบลรัตน์ สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติและปัจจุบันใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 80 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจต้องใช้น้ำก้นอ่างสำหรับอุปโภค-บริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง จำนวน 160 ล้าน ลบ.ม. แม้กระทั่งภาคใต้เองปีนี้ก็ยังมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ น้ำไหลลงเขื่อนทั้งเขื่อนรัชชประภาและเขื่อนบางลาง ยังมีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะเขื่อนรัชชประภายังมีน้ำต่ำกว่า Lower Rule Curve น่าเป็นห่วงว่าภาคใต้เองก็จะเสี่ยงต่อภัยแล้งตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

ประปาสะเทือนเพราะไร้น้ำดิบ

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การรวมเพียง 4,500 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ฤดูแล้งปี 2562/2563 มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร ภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ระบายน้ำตามแผนมาแล้ว 1,200 ล้าน ลบ.ม. ยังต้องระบายน้ำมาอีกกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง 2,300 ล้าน ลบ.ม. ต้องเก็บน้ำที่เหลือสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 จำนวน 1,000-2,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันเกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วกว่า 2 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสูบน้ำจากคลองชลประทานจนน้ำผลิตประปาไม่เพียงพอ ตามแผนต้องส่งน้ำผ่านคลองไปให้สำหรับโรงผลิตน้ำประปาดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วใน จ.ลพบุรี ทำให้ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2563 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย

...

เผยเหตุความเค็มรุกน้ำเจ้าพระยา

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญปกติปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย สถานการณ์ความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น จะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย. สาเหตุหลักมาจากการเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติที่มีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงในบางช่วง ส่งผลให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลพัดเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน ระดับน้ำที่ตรวจวัดได้จริงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงสูงกว่าที่กรมอุทกศาสตร์คาดการณ์ไว้บ่อยครั้ง การยกตัวของระดับน้ำทะเลนี้ จะเสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

ห่วงประปานครหลวงลดกำลังผลิต

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า แต่ในขณะที่ยังไม่ข้ามไปสู่ปี 2563 การรุกตัวของความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มรุกตัวสูงมากขึ้นและเริ่มส่งผลกระทบการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง เนื่องจากมีความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล สูงสุดในช่วงน้ำทะเลหนุนไปถึง 1.55 กรัมต่อลิตร (ค่าความเค็มมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร) ค่าความเค็มช่วง จ.นนทบุรี จนไปถึงพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ มีค่าสูงถึง 5-15 กรัมต่อลิตร น้ำเค็มได้เข้าสู่คลองสาขาของ จ.นนทบุรี กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหายจำนวนมาก พืชสามารถทนค่าความเค็มได้เพียง 2 กรัมต่อลิตร มีความกังวลว่าในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา อาจจะรุกตัวหนักกว่านี้ อาจทำให้การประปานครหลวงต้องลดกำลังการผลิตน้ำลง ส่งผลให้น้ำประปาไหลอ่อนลงก็เป็นได้ ภาครัฐได้เร่งหาทางเตรียมการรับมือ

คาดการณ์ปี 63 ฝนน้อยนิด

นายสุวิทย์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณ มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นทะเลที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย ล่าสุด คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝน ปี 2563 จะคล้ายคลึงกับ ปี 2538 ซึ่งปริมาณฝนช่วงครึ่งแรกของปี ไทยยังคงมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย พายุฤดูร้อนอาจจะเกิดได้ไม่มาก ฝนอาจจะมาล่าช้าไปจนถึงเดือน มิ.ย. ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้น้ำจากเขื่อนเป็นหลักและใช้ไปต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. ยิ่งทำให้ยากลำบากต่อการบริหารจัดการภัยแล้ง หลักสำคัญในตอนนี้คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตินี้ ไม่สูบน้ำไปจากคลองเพราะจะทำให้น้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภค เกิดปัญหากับประชาชนต่อน้ำกินน้ำใช้ได้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วน ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง ได้สั่งการให้ สสน.ทำงานประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคชุมชนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

...

ขอความร่วมมือช่วยประหยัดน้ำ

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภัยแล้งว่า ปีนี้แล้งหนักมากในรอบ 10 ปี ดังนั้น ขอความร่วมมือกับประชาชนในการประหยัดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ได้สั่งให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ดูแลแหล่งน้ำใต้ดิน เจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการอุปโภคและบริโภค ต่อมาจะใช้เพื่อการเกษตร แต่เชื่อมั่นว่าช่วงแล้งนี้เราจะสามารถฝ่าวิกฤติไปได้

3 พันหมู่บ้านอาจขาดน้ำ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ขณะนี้น้ำบาดาลมีปริมาณมากถึง 2 ใน 3 ของปริมาณที่ใช้ได้ หรือเหลือใช้ได้อีกประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะนำมาช่วยสนับสนุนประชาชนที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค สามารถไปใช้น้ำจากจุดจ่ายน้ำถาวรที่มีอยู่ 140 จุดทั่วประเทศได้ทันที โดยกรมได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยแล้งให้ประชาชนทั่วประเทศ ทันทีที่ได้รับข้อมูลมีพื้นที่ประสบภัย เจ้าหน้าที่จะร่วมกับจังหวัด เข้าสำรวจพื้นที่หาจุดที่สามารถขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ขณะนี้ได้รับข้อมูลว่าพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 38 จังหวัด สำรวจหมู่บ้านเกือบ 3,000 หมู่บ้านที่จะขาดน้ำประปา โดยพบจุดที่จะเจาะบ่อน้ำในชุมชนเพิ่มอีกหลายสิบจุด อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่นเดียวกับการขุดเจาะน้ำบาดาลเร่งด่วนเพื่อการเกษตรจะ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยต้องการติดต่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทร. 0-2666-7000 หรือ Call Center 1310 กด 4 หรือแจ้งขอความช่วยเหลือที่ 0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 เวลา 08.30-02.00 น. ทุกวัน จนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้ง หรือแจ้งผ่านระบบขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งออนไลน์ทาง 1310.dgr.go.th

...

แม่น้ำโขงวิกฤติสุดรอบ 50 ปี

ในส่วนปัญหาภัยแล้งตามต่างจังหวัด ที่จังหวัดนครพนม ผลกระทบจากภัยแล้งยังคงส่งผลให้ระดับน้ำโขงวิกฤติเพราะระดับน้ำลดต่ำเหลือแค่ 1 เมตร ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหนักสุดรอบ 50 ปี เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำโขงลดลงรวดเร็วและมีความผันผวน รวมทั้งมีผลกระทบจากการกักน้ำของเขื่อนในประเทศจีนด้วย ทำให้น้ำโขงในพื้นที่ จ.นครพนม บางจุดเกิดสันดอนทรายโผล่กลางน้ำโขงเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลต่อการเดินเรือข้ามฟากและเรือหาปลาตามแม่น้ำโขง ต้องใช้ระยะทางเดินเรืออ้อมหาดสันดอนทรายหลายเท่าตัว อีกทั้งยังส่งผลต่อเกษตรกรปลูกผักมีปัญหาต้องสูบน้ำไกลขึ้น เพราะมีสันดอนทรายขวางทางน้ำ รวมไปถึงจุดสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร และจุดสูบน้ำดิบนำไปสู่กระบวนการผลิตประปา ต้องมีการวางแผนรับมือในระยะยาว เนื่องจากฤดูแล้งยังอีกหลายเดือน

5 จว.อีสานกลางระดับน้ำน่าห่วง

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 เผยว่า พื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 หลังฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีตอนบน มีระดับที่ลดลง ขณะที่แม่น้ำชีตอนกลางกับตอนล่างระดับน้ำยังทรงตัว ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง โดยเฉพาะที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขณะนี้มีปริมาณน้ำวัดระดับได้เช้าวันเดียวกันอยู่ที่ 489.28 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20.12% ในจำนวนนี้เป็นน้ำที่ใช้การได้ในระดับที่ -92.39 ล้าน ลบ.ม. หรือ -4.99% มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่วันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม. และระบายออกอยู่ที่ 0.55 ล้าน ลบ.ม. จัดเป็นปริมาณน้ำที่น้อยมาก ส่วนเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำปัจจุบันที่ 1,398.97 ล้าน ลบ.ม. หรือที่ 70.66% น้ำใช้การ 1,298.97 ล้าน ลบ.ม. หรือที่ 65.60% มีน้ำไหลเข้า 0.98 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 4.47 ล้าน ลบ.ม. จัดอยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ

5 เขื่อนในชลประทานที่ 6 น้ำน้อย

ผอ.สำนักชลประทานที่ 6 กล่าวอีกว่า สำหรับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ปริมาณน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 44.86 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27.40% เป็นน้ำใช้การได้ที่ 7.64 ล้าน ลบ.ม. หรือที่ 6.04% น้ำไหลเข้าอยู่ที่ 0.01 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกอยู่ที่ 0.00 ล้าน ลบ.ม. เพราะอยู่ในระดับน้ำน้อยมาก ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างกักเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440.35 ล้าน ลบ.ม. ความจุน้ำวันนี้อยู่ที่ 238.34 ล้าน ลบ.ม. หรือที่ 54.12% เป็นน้ำใช้การได้ 201.67 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50.96% และจากการตรวจสอบพบว่า อ่างที่มีความจุน้อยกว่า 30% มีทั้งหมด 16 แห่ง ประกอบด้วย ชัยภูมิ 5 แห่ง กาฬสินธุ์ 1 แห่ง ขอนแก่น 8 แห่ง ร้อยเอ็ด 2 แห่ง

พิษณุโลกคาดแล้งยาวนาน

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.โครงการชลประทาน จ.พิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากแหล่งน้ำทางธรรมชาติลดลง บางพื้นที่แห้งขอดไม่มีน้ำ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำยม ที่อยู่นอกเขตชลประทาน จากการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงคาดว่า ปริมาณน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรมีน้อยมากถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม บางระกำ วังทอง บางกระทุ่ม และ อ.วัดโบสถ์ คาดจะแล้งยาวนานกว่า 6 เดือน และจะรุนแรงกว่าปี 2558 ทางชลประทานประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้าน งดทำนาปรังต่อเนื่อง โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน และได้ติดประกาศ “งดการส่งน้ำฤดูนาปรังปี 2562/2563” ในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล แล้วด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ

เตือนชาวสวนจันท์เตรียมเรื่องน้ำ

นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รอง ผวจ.จันทบุรี เผยว่า คณะกรรมการส่วนอำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.จันทบุรี (ภัยแล้ง) เตรียมความพร้อมวางแผนป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าปีนี้จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำอย่างหนัก โดยจากข้อมูล ปภ.พบว่าปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและอ่างกักเก็บน้ำในพื้นที่ตอนนี้ลดลงและมีที่น่าเป็นห่วงหลายแห่ง ด้วยความที่ จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีอาชีพเกษตรกรรม และต้องใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งเพื่อบำรุงผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด และผลไม้อื่นๆ ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจสร้างรายได้แก่เกษตรกร จึงจำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ต้องเตรียมความพร้อมป้องกันภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด