โลกศตวรรษที่ 21 แม้จะก้าวผ่านมาได้เพียง 1 ใน 5 ของศตวรรษ แต่ได้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องธรรมชาติ ภูมิอากาศ โลกเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการทำมาหากินของมนุษย์ การค้าขาย หลายอาชีพต้องปรับเปลี่ยนกันอย่างรุนแรงจากเทคโนโลยีดิจิทัล
เป็นที่แน่นอนว่า ในยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือดิสรัปชัน ย่อมมีผลกระทบต่อภาคเกษตรแห่งการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก...จากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงจะเดินไปในเส้นทางไหน ประชมคมโลกมองเรื่องนี้อย่างไร
“ตุลาคมที่ผ่านมาสหประชาชาติได้เปิดเผยตัวเลข วันนี้ยังมีคนในแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียใต้ และตะวันตก มากกว่า 820 ล้านคน ยังคงเผชิญกับความอดอยากหิวโหยในขั้นรุนแรง ตอกย้ำความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการขจัดความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) ให้หมดสิ้นไปภายในปี 2573 และคาดว่าในแต่ละวันมีคนทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ และใน 2 พันล้านคนนี้ 8% เป็นประชากรในอเมริกาเหนือและยุโรปด้วย
ขณะเดียวกันมีคนอีกกลุ่มกว่า 2 พันล้านคน ประสบปัญหาภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินมาตรฐานที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพตามมา นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ คนกลุ่มหนึ่งไม่มีอะไรจะกิน กับอีกฝ่ายหนึ่งกินมากจนเกิดปัญหา”
...
ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) บอกอีกว่า...ปัจจุบันประชากรโลกมีกว่า 7.8 พันล้านคน ภายใน 30 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นหมื่นล้านคน ชุมชนเมืองขยายตัวและแย่งพื้นที่เกษตรกรรมในชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วเราจะผลิตอาหารให้เพียงพอได้อย่างไร
ประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงคนในประเทศหรือในครอบครัวได้คงจะอยู่รอดได้...ทางออกในการแก้ปัญหา คงต้องเริ่มจากการมีความมั่นคงอาหารในครอบครัวและประเทศ เป็นหลัก
หากคนไม่มีจะกิน ปัญหาต่างๆจะรุมเร้า เกิดเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและอาหารในที่สุด
การปฏิวัติเกษตรกรรมในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว สินค้าเกษตรหลายชนิดผลิตเพื่อส่งออก เปลี่ยนเป็นเกษตรอุตสาหกรรม มีการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรกล การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การนำปุ๋ยและสารเคมีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
แต่วันนี้ FAO และ CFS ได้กลับมาทบทวนถึงนโยบายด้านความมั่นคงอาหารและการเกษตรของโลกอีกครั้ง โดยกำลังประชุมหารือและจัดทำ “นโยบายด้านการเกษตรเชิงนิเวศ (Agroecology)” เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ในปีนี้ เพราะคำถามหนึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรม ประชากรโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรธรรมชาติดินและน้ำที่กำลังถูกทำลาย
...
เกษตรกรรมเชิงนิเวศหรือการทำเกษตรอินทรีย์จะสามารถเลี้ยงโลกได้จริงหรือ??
“เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกนโยบายทั้งในระดับประเทศหรือระดับโลก มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะเริ่มมีแนวคิดว่าการเลี้ยงประชากรโลกให้ได้อย่างยั่งยืน อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้จากความสามารถในการเพิ่มผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่าง เช่น สิทธิความเท่าเทียม ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการบริโภคของเรา”
บางคนบอกว่าปัจจุบันไม่ใช่อาหารไม่พอ...แต่เพราะเราอาจไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสมเท่าเทียมกัน
“เพราะในสถานการณ์ที่เราเห็น บางพื้นที่ บางประเทศเกษตรกรผลิตอาหารออกมามากเกินความต้องการ เกินความต้องการของตลาดจนราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร คงไม่ใช่มาจากปัญหาด้านศักยภาพในการเพาะปลูกหรือทางเทคนิคใดๆด้านเดียว”
...
ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) บอกว่านโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศจึงเป็นอีกคำตอบของความมั่นคงอาหาร ที่สามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการกัดเซาะหน้าดิน การขาดแคลนน้ำ และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ในดิน การกักเก็บน้ำ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
“แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ล้วนสอดคล้องกับนโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศ ที่ FAO และ CFS กำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างเกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรเชิงนิเวศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร และทำให้เกษตรกรอยู่ได้ มีกินมีใช้อย่างเพียงพอ ทุกคนทุกภาคส่วนมีความสุข คงเป็นความท้าทายที่สำคัญ”.
ทีมข่าวเกษตร