ปี 2562 ที่ผ่านไป เมกะโปรเจกต์ใหม่ๆ หรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใหม่ๆ ถูกเริ่มดำเนินการหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการคมนาคมขนส่ง เช่น มอเตอร์เวย์สายใหม่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งแต่ละโครงการกว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ก็จะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ที่มาถึง เราพบว่ามีโครงการคมนาคมขนส่งใหม่ๆทั้งในภูมิภาคและกรุงเทพฯมีกำหนดแล้วเสร็จและมีกำหนดเปิดใช้ในปีนี้หลายโครงการ

“ฝ่ายข่าว กทม.และจราจร” จะพาไปติดตามกัน

-----------------------------

มอเตอร์เวย์สาย 7 ทะลุระยอง

ขณะที่ใครๆหลายคนตื่นเต้นกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ที่กำลังใกล้จะแล้วเสร็จ หรือสนใจกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่เริ่มจ่ายค่าเวนคืนไปหลายพันล้านนั้น หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรีเดิม ที่ปัจจุบันวิ่งได้ถึงพัทยา กรมทางหลวงได้ขยายมอเตอร์เวย์สายนี้ผ่านพื้นที่ไป 2 อำเภอ 2 จังหวัด จาก อ.บางละมุง ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง บริเวณ กม.34+400 เป็นระยะทาง 32 กม. มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน คือ ด่านห้วยใหญ่ ด่านเขาชีโอน และด่านอู่ตะเภา โดยใช้งบจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของมอเตอร์เวย์ รวม 20,200 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท ล่าสุดงานก่อสร้างคืบ 98% งานติดตั้งด่านและระบบเก็บค่าผ่านทาง คืบ 50% ตั้งเป้า ในเดือนเมษายน 63 จะเปิดใช้ด่านอู่ตะเภา จากเส้นทางหลักเลี้ยวซ้ายไปนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือเลี้ยวขวาไปสนามบินอู่ตะเภา จากนั้นเดือนกรกฎาคม 63 จะเปิดใช้ตลอดสาย

...

มอเตอร์เวย์โคราชรออีกปี

ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือถนนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ปัจจุบันภาพรวมงานโยธาคืบหน้า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 สำหรับแนวสายทางยกระดับช่วงเลียบลำตะคอง ระยะทางประมาณ 17 กม.แล้วเสร็จเกือบ 100% แต่ในส่วนของการบริหารจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุน ในรูปแบบ PPP Gross Cost ภายในกรอบวงเงินปัจจุบันประมาณ 33,258 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ต้นปี 2563 ทั้งนี้ตามแผนงานกรมทางหลวงในปี 2564 จะเปิดให้บริการบางช่วงได้

อุโมงค์อุดรฯ เปิดทางการ

ขยับออกไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับถนนวงแหวนรอบนอกเมืองอุดรธานี (ด้านเหนือ) ลักษณะโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ จำนวน 1 แห่ง อุโมงค์ทางลอด จำนวน 1 แห่ง สะพานคนเดินข้าม 4 แห่ง รวมงานทาง ระยะทางรวม 3.8 กม. งบก่อสร้างประมาณ 1,050 ล้านบาท ปัจจุบันแล้วเสร็จเกือบ 100% เหลือเพียงงานตกแต่ง แต่เมื่อเร็วๆนี้ กรมทางหลวงได้เปิดให้ทดลองใช้อุโมงค์ที่ตกแต่งผนังด้วยลวดลายงดงาม กลับถูกกลุ่มคนคึกคะนองทำให้พื้นและผนังสกปรกชำรุด ต้องปิดตกแต่งอุโมงค์ใหม่ โดยมีกำหนดเปิดใช้พร้อมงานก่อสร้างส่วนอื่นภายในต้นปี 63 นี้

ต่างระดับบางปะอินเสร็จ

ต่อไป โครงการปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอินบางส่วน พระนครศรีอยุธยา เป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับ ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 800 เมตร เพื่อรับรถที่มาจากถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ช่วงบางนา-บางปะอิน หรือถนนมอเตอร์เวย์สาย 9 ไปลงทางหลวงหมายเลข 32 หรือ ถนนสายเอเชีย มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือโดยตรง เพื่อแก้ปัญหารถติดโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ นอกจากนี้ยังขยายผิวจราจรทางคู่ขนานถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า ช่องซ้ายสุดตั้งแต่หน้าโรงงานเบียร์คาร์ลสเบิร์กเพิ่มอีก 1 ช่องทาง เพื่อรองรับรถที่มาจากสระบุรี ถนนมอเตอร์เวย์สาย 9 มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ได้สะดวกขึ้น โครงการนี้กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.2563

...

ถนนชมวิว 4 อุทยาน

ด้านกรมทางหลวงชนบท มีโครงการที่น่าสนใจที่สุด คือ ถนนสาย นม.3052 แยกทางหลวงหมายเลข 304-บ้านท่ามะปรางค์ (ตอนที่ 2) พร้อมทางจักรยาน โครงการนี้นอกจากเพื่อการคมนาคมแล้ว ยังเพื่อการท่องเที่ยว มีจุดเริ่มต้นจากถนนธนะรัชต์ในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา สิ้นสุดโครงการที่บ้านสุขสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเขียว นครราชสีมา ระยะทางรวม 69.62 กม. เส้นทางขนานไปกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาแผงม้า อุทยานแห่งชาติคลองปลากั้ง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นถนนชมทิวทัศน์ (Sceic-Route) ที่มีทัศนียภาพตลอดสายทางเป็นความงดงามของทิวเขา อีกทั้งยังใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างถนนมิตรภาพที่อำเภอปากช่องไปยังถนนทางหลวงหมายเลข 304 อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กำหนดแล้วเสร็จเดือน มี.ค.2563

...

รถไฟฟ้าเพิ่ม 2 สายใน กทม.

ในส่วนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯนั้น ในปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ เปิดให้บริการคือ รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กชนิดล้อยาง แบบ APM (Automatic People Mover) มี 3 สถานี เริ่มจากสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปสถานีเจริญนคร สิ้นสุดที่สถานีคลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. โดยกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ได้จากการซื้อพื้นที่โฆษณาในสถานีเป็นเวลา 30 ปีจากเอกชน ว่าจ้างบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ก่อสร้าง และว่าจ้าง บมจ.บีทีเอสซี จัดหาและจัดการเดินรถ เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย กำหนดเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.2563 ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายเหนือ ที่ปัจจุบันสิ้นสุดที่สถานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม. จะขยายเปิดให้บริการจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปถึงสถานีคูคตในปลายปี 63

สัมปทานใหม่-กฎจราจรใหม่

ในปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานโครงการคมนาคมขนส่ง 2 โครงการ โครงการแรก คือ สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ-อโศก-บางโคล่ เนื่องจากสัญญาจะครบอายุสัมปทาน 30 ปี ในวันที่ 29 ก.พ.2563 ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กทพ. กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ BEM หรือ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ BECL เดิม โดยรัฐบาลกำหนดให้ กทพ.เจรจากับ BEM เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติคดีพิพาทและการจ่ายค่าชดเชยมูลค่าหลายหมื่นล้าน โดยข้อสรุปเบื้องต้นคือ ให้ต่อสัมปทานกับ BEM ส่วนกำหนดอายุเวลานั้น อาจเป็น 15 ปี ขณะที่ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญากับ บมจ. บีทีเอสซี เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท

...

นอกจากนี้ ในราวเดือนเมษายน ปี 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายตัดคะแนนใบขับขี่ โดยกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ขับขี่ทุกคนมีคะแนนคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจร จะเสียค่าปรับและถูกตัดคะแนนตามความผิดแต่ละข้อหา 1-4 คะแนน หากถูกตัดครบ 12 คะแนน จะถูกพักใช้ใบขับขี่ และต้องเข้ารับการอบรม หากขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตจะถูกดำเนินคดี โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับ 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

ฝ่ายข่าว กทม.-จราจร