สับปะรด MD 2 ถูกพัฒนาให้เนื้อแน่น สีเหลืองสวยงาม หอม หวาน ไม่กัดลิ้น มีวิตามินซีสูงกว่าสับปะรดทั่วไป 4 เท่า สามารถขนส่งทางเรือ โดยเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25°C ได้หลายวัน โดยไส้ไม่เป็นสีน้ำตาลเหมือนพันธุ์อื่น ทำให้สะดวกต่อการส่งออก เป็นที่ต้องการของตลาดโลกค่อนข้างมาก

แม้เมืองไทยจะมีการปลูกสับปะรดพันธุ์นี้มาแล้วหลายปี แต่มีเฉพาะในไร่ของเกษตรกรรายใหญ่ ค่อนข้างมีอันจะกินเท่านั้น เพราะหน่อสับปะรด MD2 ราคาแพง หน่อละ 25-30 บาท ในขณะสับปะรดปัตตาเวียพันธุ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูก ราคาแพงสุดแค่หน่อละ 1 บาทเท่านั้นเอง

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูก 7,000–8,000 ต้น ถ้าปลูกสับปะรด MD 2 จะใช้ทุนสูงกว่า 200,000 บาท

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการปลูกสับปะรด MD 2

จึงจัดโครงการขยายพันธุ์สับปะรด MD 2 ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำไปแจกให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อด้วยตัวเอง โดยวิธีการตัดดอก และแคะยอด ซึ่งเกษตรกรชาวไร่สับปะรดล้วนคุ้นเคยอยู่แล้ว

...

หลังจากใช้เวลานาน 8 เดือน ในที่สุดการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระดับห้องปฏิบัติการประสบความสำเร็จ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จนได้ต้นอ่อนที่พร้อมลงปลูกสู่ถาดชำ โดยมีต้นทุนการผลิตต้นละ 7.75 บาท

อนุบาลต้นอ่อน 8 สัปดาห์ สามารถย้ายลงถุงเพาะชำ ต่อมาอีก 8 สัปดาห์ ย้ายลงแปลงปลูก ต้นอ่อนมีอัตรารอดกว่า 90% โดยมีต้นทุนการดูแลบริหารจัดการต้นละ 1.98บาท

เมื่อปลูกต่อไปอีก 6 เดือน เกษตรกรสามารถแยกหน่อ ด้วยวิธีการที่ตนเองถนัด ทั้งการตัดช่อดอก และแคะยอด...ทำให้ต่อจากนี้ไปการปลูกสับปะรดเกษตรกรจะไม่มีต้นทุนค่าพันธุ์อีกเลย.