นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดสินค้าปลานิล ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ปลานิลบ่อดิน 32 แปลง ในพื้นที่ 21 จังหวัด รวม 23,152 ไร่ ของเกษตรกร 2,204 ราย พบว่า เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตไร่ละ 34,139.67 บาทต่อรุ่น ได้ผลผลิตไร่ละ 1,192.07 กก. เกษตรกรขายได้ราคา กก.ละ 42.19 บาท ได้ผลตอบแทนไร่ละ 50,293.43 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 16,153.76 บาท หรือมีกำไร กก.ละ 13.55 บาท

ในขณะที่เกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่จะมีต้นทุนการผลิตไร่ละ 42,079.63 บาทต่อรุ่น ได้ผลผลิตไร่ละ 1,345.43 กก. เกษตรกรขายได้ราคา กก.ละ 41.53 บาท ได้ผลตอบแทนไร่ละ 55,875.71 บาท สรุปแล้วได้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 13,796.08 บาท หรือมีกำไร กก.ละ 10.25 บาท

“จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงนอกพื้นที่แปลงใหญ่ นอกจากจะมีต้นทุนสูงกว่า ได้ผลผลิตน้อยกว่า ยังขายได้ราคาต่ำกว่าอีกด้วย เนื่องจากไม่มีการรวมตัว อำนาจต่อรองจึงไม่มี เลยทำให้การเลี้ยงแบบใหญ่ทำกำไรได้สูงกว่าถึงไร่ละ 2,357.68 บาท หรือได้กำไรเพิ่มขึ้น 17%”

...

เลขาธิการ สศก.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเลี้ยงปลานิลในบ่อดินทั้งในและนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ ยังขาดการจัดสรรปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม เช่น ยังมีการปล่อยลูกพันธุ์น้อยกว่าอัตราปล่อยลูกพันธุ์ที่กรมประมงแนะนำ 5,000-8,000 ตัวต่อไร่ และมีการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปปริมาณมาก ทำให้เกิดความสูญเปล่าจากการใช้อาหารเม็ดมากเกินไป

ดังนั้น เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงให้เหมาะสมคือ อัตราการปล่อยลูกพันธุ์และปริมาณอาหารเม็ดสำเร็จรูปตามคำแนะนำจากกรมประมง และส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการตลาดที่สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การแปรรูป และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น.