ปัญหากุ้งราคาตกมักเกิดขึ้นแทบทุกปี...โดยปกติช่วงเวลานี้ต่างประเทศมักซื้อกุ้งตุนไว้ช่วงเทศกาลหยุดยาวคริสต์มาสและปีใหม่

แต่ปีนี้กลับซื้อลดลง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจขาลงของโลก ยิ่งมาเจอค่าเงินบาทแข็งเข้ามาสมทบอีก ถึงขั้นทำเอาโรงงาน ห้องเย็นบางส่วนล้มหายตายจากไปไม่น้อย

สถานการณ์ราคาซื้อขายกุ้งขาวแวนนาไม่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา กุ้งขนาด 70 ตัวต่อ 1 กก. เกษตรกรขายได้ กก.ละ 139 บาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่งออกกุ้งลดลง

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทแข็งแล้ว กุ้งไทยยังราคาแพงกว่าคู่แข่งเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเราลดลง

จุดนี้เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งส่วนปัจจัยการผลิตและแรงงาน รวมถึงประเทศคู่แข่งผลิตกุ้งได้ดีขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพที่ใกล้เคียงกับไทยมากขึ้นทุกที และมีบางประเทศผลิตกุ้งได้ แต่มีระบบห้องเย็นไม่ได้มาตรฐาน เลยต้องรีบเทขายกุ้งราคาถูกให้กับประเทศคู่ค้า

ปัญหาทั้งหลายถาโถม จึงเป็นที่มาของมติที่ประชุมร่วมระหว่างเกษตรกร รัฐ และเอกชน นำผลผลิตส่วนเกินกุ้งออกจากตลาด 40,000 ตัน พร้อมกำหนดราคาเป้าหมายให้เกษตรกรขายกุ้งได้ กก.ละ 150 บาท (ขนาด 70 ตัวต่อ 1 กก.) พร้อมไปกับผุดโครงการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการรับซื้อกุ้งเพิ่ม 30,000 ตัน วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท

และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อกุ้งมาเก็บในสต๊อก 10,000 ตัน ภายใน 3 เดือน วงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท และชดเชยค่าเก็บอีก กก.ละ 1 บาท พร้อมกับเตรียมขยายการส่งออก โดยเฉพาะผู้นำเข้าหน้าใหม่ในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะเดียวกันจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้กินกุ้งจากฟาร์มเกษตรกรโดยตรง

...

ฟังดูเหมือนจะดี...แต่ลองคิดดีๆ ไม่ว่ากุ้งราคาตกไปขนาดไหน เราแทบไม่เคยซื้อกุ้งในตลาดได้ราคาถูกลงเลย นั่นเพราะขบวนการยี่ปั๊ว ซาปั๊ว คอยสกัดรับซื้อกุ้งเป็นทอดๆ ขายกินกำไรกันหลายต่อ ก่อนถึงมือพ่อค้าปลีก ที่กินกำไรต่อจากผู้บริโภคอย่างเราๆ.

สะ–เล–เต