ลุยเฟ้นเลขาฯคุรุสภาตัวจริง ยกร่างหลักสูตรใหม่เน้นสมรรถนะ นักเรียน.
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงหลักเกณฑ์การประกาศสรรหาเลขาธิการคุรุสภาตัวจริงว่าไม่จำเป็นต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นอำนาจ รมว.ศึกษาธิการที่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จากนี้จะเดินหน้าสรรหาเลขาธิการคุรุสภาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนการสรรหาที่ดำเนินการไว้แล้วก่อนหน้านี้ ตนยังไม่ทราบข้อมูล ฝ่ายกฎหมายต้องดูข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะเป็นกระบวนการก่อนที่ตนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ. ทั้งนี้คุณสมบัติเลขาธิการคุรุสภาต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมงานครูและเชื่อมต่อนโยบายตนและรัฐบาลได้
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้วางแผนการบริหารจัดการงบประมาณด้านบุคลากรของคุรุสภาไปจนถึงปี 2566 โดยมีการหารือถึงการพิจารณาคุณสมบัติการขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวาระที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอรายชื่อครู 1 รายให้ที่ประชุมอนุมัติ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่าครูคนดังกล่าวมีคดีความเกี่ยวกับเด็กค้างอยู่ จึงไม่เห็นชอบให้มีการอนุมัติขอต่อใบอนุญาตฯ ทั้งนี้ ตนได้กำชับถึงการขอต่อใบอนุญาตฯ ต่อจากนี้คุรุสภาต้องตรวจสอบประวัติครูอย่างเข้มข้น รวมถึงประสานข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการดูประวัติอาชญากรรมบุคคลที่ขอด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโรงเรียนได้คนมีคดีความติดตัวเข้ามาสอนนักเรียน.
วันเดียวกัน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร สพฐ.ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการห้องเรียน Mini English Program (MEP) ในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดย สพฐ.กำลังแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการเปิดการเรียนการสอน คาดว่าจะดำเนินการเรียบร้อยและสามารถรับนักเรียนได้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ทั้งนี้ การดำเนินการโรงเรียน MEP จะมีการประเมินภาษาอังกฤษโดยใช้มาตรฐานของ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้อธิบายระดับความเชี่ยวชาญทางภาษาจากยุโรป โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องมีระดับความสามารถอยู่ที่ B-2 และต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติได้
...
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการยกร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง กพฐ.จะหารือเพื่อกำหนดกรอบและแนวทางของการยกร่างหลักสูตรใหม่ โดยในส่วนของ สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมยกร่างกำหนดรายละเอียดของหลักสูตร วิธีการประเมินผล รวมถึงการสร้างสื่อและกลไกต่างๆ เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนงาน และมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิดในมุมมองใหม่ๆ คาดว่าหลักสูตรใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเรามองว่าเด็กทุกคนมีความสามารถและสมรรถนะที่แตกต่างกัน การจัดการเรียนการสอนแบบใหม่จะไม่เหมือนเดิมที่ทุกคนต้องเรียนเหมือนกันแต่จะเน้นจัดการเรียนการสอนแบบเน้นสมรรถนะมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลให้การกวดวิชาลดลง.