รับมือ…วิกฤติภัยแล้งรอบใหม่
ภัยแล้ง 2563...มาเร็วกว่าที่คิด...ปกติการประกาศสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทย จะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ของทุกปี แต่ปีนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประกาศสถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2562 ยาวนานถึง 6 เดือน ประมาณสิ้นเดือน เม.ย.2563 มีพื้นที่เสี่ยงภัย 22 จังหวัด 56 อำเภอ
สาเหตุของภัยแล้งคงไม่ต้องไปค้นหาว่าเกิดจากอะไร เพราะอะไร แต่สิ่งที่ยืนยันว่า “ภัยแล้ง” จะกลายเป็น “วิกฤติรอบใหม่ที่หนักกว่าทุกปี” คือปริมาณ “นํ้าในเขื่อน” เหลือน้อยอย่างน่าตกใจ
เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนใหญ่ที่สุดมีนํ้าใช้การได้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนใหญ่อันดับสอง เหลือน้ำใช้การได้ 24 เปอร์เซ็นต์ ป่าสัก 32 เปอร์เซ็นต์ และแควน้อย 46 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลัก จะต้องมีรวมกันมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีเพียง 4,986 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่เขื่อนอื่นล้วนอยู่ในสภาพวิกฤติไม่แพ้กัน อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 40.26 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ เหลือน้ำใช้ได้ร้อยละ 8 เขื่อนลำพระเพลิง ร้อยละ 16 เขื่อนลำนางรอง ร้อยละ 17 เป็นต้น
...
ที่สำคัญจากการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า จากนี้ไปจนกว่าจะถึงฤดูฝนของปี 2563 จะไม่มีฝนตกลงมาแล้ว
ปริมาณน้ำในเขื่อนที่น้อยส่งผลให้ปริมาณนํ้าที่ใช้สนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงแล้งยาว 6 เดือน เกิดภาวะขาดแคลน พื้นที่เขตชลประทาน 8 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ไม่มีนํ้าส่งไปสนับสนุนการเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง เพราะมีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่เพียง 17,620 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จะต้องเดือดร้อนกว่าหลายเท่าตัว
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง” ขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางบรรเทาทุกข์ร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน
“ศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง” จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ กำหนดแนวทางปฏิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน รับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือจากประชาชนด้านน้ำบาดาลผ่านระบบโทรศัพท์หมายเลข 0-2666-7000 กด 1 หรือ โทรศัพท์หมายเลขมือถือ 09-5949-7000 ตั้งแต่เวลา 08.30-22.00 น. ทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้ง และ ผ่านระบบขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งออนไลน์ทาง 1310.dgr.go.th ตลอดจนจัดทำรายงานสถานการณ์ ผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มี ดร.เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำบาดาล เป็น ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ
ขณะเดียวกัน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ รวมถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดตั้งศูนย์ ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป
“กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งไว้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้สั่งการให้เข้าสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และ อบต.ต่างๆ เพื่อให้แต่ละแห่งมีบ่อบาดาลเป็นของตัวเอง เพื่อดึงน้ำบาดาลออกมาให้บริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกร น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ จุดจ่ายน้ำถาวรที่พร้อมแจกน้ำให้ประชาชนที่มารับน้ำ 136 แห่ง โรงเรียนที่พร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดพิบัติภัย 374 แห่ง ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 85 ชุด รถบรรทุกน้ำ 90 คัน และหน่วยนาคราช หรือชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบ 38 ชุด เป็นต้น” นายศักดิ์ดา ระบุถึงมาตรการแก้ปัญหา
ไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค การเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับระบบประปาหมู่บ้าน 548 แห่ง การสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่และเล็ก 431 แห่ง การจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 54 แห่ง รวมทั้งจัดหาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 895 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 41,760 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 129,097 ครัวเรือน
...
ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องเร่งด่วน น้ำบาดาลมีน้ำต้นทุนสูงมาก ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้งและเรื่องของน้ำอุปโภค-บริโภค”
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่านี่คือ “วิกฤติภัยแล้งรอบใหม่” ซึ่งมีเวลายาวนานกว่าที่เคยผ่านๆมาคือ เริ่มตั้งแต่ต้น พ.ย.2562 จนถึงปลาย เม.ย.2563 และจะหนักกว่าทุกปี
การตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าไม่เตรียมการใดๆเลย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การดูแลในส่วนของแผนระยะยาว ซึ่งต้องไม่มองข้ามและเร่งดำเนินการไปพร้อมกัน
เพื่อหยุดการต้องเจอ “ภัยแล้งซ้ำซาก” เสียที.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม