กสศ.นำเสนอนวัตกรรมเพิ่มทักษะความรู้การเงิน ให้นร.ทุนเสมอภาค ในเวทีวิชาการนานาชาติ ชี้ เป็นแนวทางที่จีนใช้แก้ความยากจน จนบรรลุได้ใน 20 ปี ขณะ ADBI พร้อมหนุนวิชาการ-เครื่องมือ

วันที่ 1 ธ.ค. ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28-29 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี 2019 ของสถาบันวิจัยแห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADBI) ครั้งที่ 22 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปีนี้เป็นการประชุมหัวข้อ Financial Inclusion, Financial Education and Fintech โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการเงินระดับโลก รวมทั้งผู้บริหารธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียมากกว่า 50 คน เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการ และประสบการณ์ด้านนโยบายการเงิน และมาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน โดย กสศ.ได้นำเสนอนวัตกรรมส่งเสริมทักษะความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) จากการลงมือปฏิบัติจริงให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อสนับสนุนการขจัดปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน โดยทาง ADBI เตรียมจะตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในประเด็นดังกล่าวของ กสศ. ใน Policy Report ของสถาบันวิจัยแห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADBI) ประจำปี 2563 ต่อไป

...

ดร.ไกรยส กล่าวว่า โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของ กสศ. ไม่เพียงแต่จัดสรรเงินช่วยเหลือเท่านั้น แต่ได้พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมทักษะความรู้ทางด้านการเงินของนักเรียนทุนเสมอภาค จากการลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมเวลา 9 ปี ตลอดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น โครงการเครือข่ายโรงเรียนตลาดวาดฝัน สร้างอาชีพนักเรียนทุนเสมอภาค ที่มีโรงเรียนเครือข่ายกว่า 171 แห่งทั่วประเทศ โครงการเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) ซึ่ง กสศ. ร่วมกับบริษัท JD Central และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะความรู้ด้านการเงิน ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech เช่น prompt-pay หรือ เทคโนโลยี e-commerce ต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนของครัวเรือนยากจนพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนทุนเสมอภาคจาก กสศ. อย่างยั่งยืน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความร่วมมือหลังจากนี้ สถาบันวิจัยแห่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADBI) พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ และหลักสูตรทักษะทางการเงินให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคของกสศ. ในขณะที่นักวิชาการจากสถาบันนานาชาติหลายประเทศสนใจ ร่วมวิจัยพัฒนามาตรการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ผลลัพธ์เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะมุ่งไปสู่ครอบครัวของนักเรียนยากจนพิเศษด้วย เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

“สถาบันวิจัยแห่งธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นห่วงประชากรในสังคมจะมีทักษะความรู้ด้านการเงินไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากส่งเสริมให้คนยากจนด้อยโอกาสมีทักษะความรู้ทางการเงินจะสามารถวางแผน และบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการใช้จ่าย การเก็บออม และการจัดการหนี้สิน จะเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินที่สำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ทำให้สามารถก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามชั่วคนได้ ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ที่ใช้เวลาเพียง 20 ปี ก็สามารถมีความก้าวหน้าในการลดปัญหาความยากจนได้อย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การที่ภาครัฐและเอกชนของจีนร่วมกันลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางการเงิน รวมทั้งมุ่งให้ความรู้และทักษะการเงิน และการ Fintech แก่คนยากจนอย่างจริงจังนั่นเอง จนปัจจุบันคนจีนแทบจะไม่ได้ใช้เงินสดในการทำธุรกรรมและการประกอบอาชีพแล้ว” ดร.ไกรยส กล่าว

...

สำหรับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นสถาบันการเงินระดับนานาชาติที่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 68 ประเทศรวมถึงประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาของประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิก ผ่านการให้เงินกู้ และความสนับสนุนด้านงานวิจัย และข้อเสนอเชิงนโยบาย