“ขอให้ทุกคนตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และดำเนินการให้เห็นผลอย่างจริงจัง ในการเสนอแนวทางการทำประมงที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Blue Growth Initiative ของ FAO ปฏิรูปภาคประมงให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน มุ่งรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล สังคมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบ รวมไปถึงจัดการของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ”

Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ FAO กล่าวเรียกร้องต่อที่ประชุมนานาชาติด้านการทำประมงอย่างยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในขณะที่ Peter Thomson ทูตพิเศษองค์กรสหประชาชาติด้านมหาสมุทร เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเป็น “ภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (PSMA)” ของ FAO เพื่อดำเนินการด้านมาตรการป้องกัน ยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 (Life below water)

พร้อมแจ้งให้ที่ประชุมทราบในปี 2020 จะส่งเสริมการสร้างมิติใหม่แห่งธรรมชาติ เริ่มจากจัดประชุม Ocean Conference เพื่อขับ- เคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านทะเลและมหาสมุทร จัดประชุม UN Biodiversity Conference ขับเคลื่อนการดำเนินงานความหลากหลายทางชีวภาพ หลังปี ค.ศ.2020 การประชุม IUCN World Conservation Congress และการประชุม UN Climate Change Conference (COP26) ซึ่งทุกฝ่ายจะร่วมทำงานในการปกป้องมหาสมุทร เพื่อนำชีวิตในท้องทะเลกลับมาสู่ปกติ และผลิตอาหารให้สิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกอย่างที่เคยเป็นมา

...

สำหรับประเทศไทย นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยได้สื่อสารให้ประชาคมโลกทราบอย่างต่อเนื่องถึงความมุ่งมั่นและผลสำเร็จในการดำเนินงานป้องกัน ยับยั้ง ขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ส่งเสริมให้เกิดการทำการประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ โดยมีการปฏิรูปการประมงของไทยทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง ตามกฎระเบียบสากล จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

การดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยมีตัวอย่างผลสำเร็จและประสบการณ์ที่สามารถแลกเปลี่ยน และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ข้อแนะนำเชิงนโยบายและเชิงวิชาการแก่ประเทศสมาชิก ซึ่ง FAO ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในจุดนี้เช่นกัน และไทยจะผลักดันให้มีโครงการขยายความร่วมมือกับนานาประเทศต่อไป.

สะ-เล-เต