1 ธ.ค.บังคับไม่ทัน 6 สมาคมออกโรง ชี้เกิดวิกฤติหนัก! ขอให้ทบทวนมติ

กรมวิชาการเกษตรประกาศ ยืดเวลาแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรออกไปอีก 6 เดือน จากวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อให้มีเวลาบริหารจัดการสารที่คงเหลือในประเทศ ปลัดเกษตรเผยต้องใช้ 3.2 หมื่นล้านบาท ชดเชยเกษตรกรหลังแบน 3 สาร ด้านต่างชาติส่งหนังสือจี้ไทยแจงเหตุผลแบนหวั่นส่งข้าวสาลี ถั่วเหลืองมาไทยไม่ได้กระทบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มาม่า น้ำมันพืช ขณะที่ 6 สมาคมอุตสาหกรรมเกษตรจับมือค้านแบน 3 สาร เหตุส่งผลกระทบหนัก เดือดร้อนกันหมดทั้งประเทศ กระทบ การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออก โรงงานผลิตอาหารสัตว์เตรียมตัวเจ๊ง ปิดตัว เกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมดอาชีพ มันสำปะหลังขาดตลาดรองรับ เผยผู้บริโภคจะเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร ราคาแพง คำนวณผลกระทบแต่ละภาคส่วนมูลค่าขั้นต่ำ 1.7 ล้านล้านบาท กระทบต่อภาคแรงงาน 12 ล้านคน ถามหาใครรับผิดชอบเกษตรกรทั่วประเทศที่ต้องใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรคือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมีเฮ เมื่อมีการเบรกการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรเหล่านี้ โดยยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน

ทั้งนี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตรสามชนิด เมื่อเย็นวันที่ 22 พ.ย.ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน ตรงนี้ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า จะใช้วิธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่วันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้

...

“ที่กรมวิชาการเกษตรมารายงานตรงนี้ เพราะในการประชุมครั้งก่อนผมสอบถามว่ายังมีปริมาณ 3 สารเคมีอยู่เท่าใด ตอนนั้นระบุว่ายังคงเหลือ 38,000 ตัน เลยเสนอแนวทางไปให้ปรับวิธีการจัดการ ตอนนั้นผมเสนอให้ย้อนศรกลับไปยังประเทศที่นำเข้ามา จากการหารือการย้อนศรออกไปก็ทำได้ ถ้าเป็นวัตถุอันตรายที่ยังเป็นสารขั้นต้น แต่ถ้านำมาทำเป็นสารขั้นปลายจะส่งออกไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศใช้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในวันนี้กรมวิชาการเกษตรจึงเสนอมาว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับแบนออกไปอีก 6 เดือน” นายอนันต์กล่าว

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผล กระทบต่อเกษตรกร อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบนในวันที่ 1 ธ.ค. จะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยา ชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามาแต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ แต่ข้อเสนอที่มีมาเบื้องต้นรัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน

นายอนันต์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) แจ้งว่าขณะนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตรเพราะตามระเบียบขององค์การการค้าโลก หากจะมีการแบนสารเคมีใด ประเทศที่ดำเนินการแบนต้องส่งหนังสือแจ้งกับประเทศสมาชิกก่อน 60 วัน เงื่อนเวลาที่จะแบน 1 ธ.ค. ไม่ถึง 60 วัน หลายประเทศบอกว่าไทยทำผิดกติกาสากล นอกจากนี้ทั้ง 5 ประเทศ กังวลว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เป็นต้น มายังประเทศไทยได้ จะต้องนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

“ยอมรับว่า หากแบน 3 สารทันทีในวันที่ 1 ธ.ค.2562 นักวิชาการ เอกชนและเกษตรกรก็ช็อก เพราะเดิมคิดว่าอยู่ระหว่างการจำกัดปริมาณการใช้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยอมรับว่าการประกาศยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 และนำไปสู่การแบนในวันที่ 1 ธ.ค. สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมน้ำมันพืช มาม่า ทุกยี่ห้อทำจากแป้งสาลี จะไม่สามารถนำเข้ามาผลิต หรือแม้แต่นำมาเพื่อจำหน่ายได้” นายอนันต์กล่าว

ก่อนหน้าการยืดเวลาแบน 3 สารไปอีก 6 เดือน เมื่อเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ 6 สมาคมอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน แถลงยืนยันผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี ที่จะให้มีผล ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยไม่มีการเตรียมแผนรองรับ ว่าจะทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร ผู้บริโภคควักเงินซื้ออาหารแพงขึ้น และมีผลกระทบในหลายภาคส่วนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท กระทบต่อภาคแรงงาน 12 ล้านคน

นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ทบทวนมติให้ยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมกัน

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. โดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงมติในเรื่องเดียวกันกับที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะเดียวกันนี้เคยมีมติมาก่อน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 โดยไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ มาพิจารณาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงมติแต่ประการใด ถือเป็นการใช้ดุลพินิจให้มีมติโดยมิชอบ นอกจากนั้น ในการพิจารณาวันที่ 22 ต.ค. 2562 ก็มิได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออก

...

ด้านนายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคม การค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า การแบน 3 สารจะกระทบกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกคิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาทต่อปี จะส่งผลไปยังการทำเกษตรอื่นๆด้วย เนื่องจากจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ใช้ การใช้สารเคมี 3 ตัวนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อในการบริหารจัดการแปลง หากเกษตรกรไม่สามารถใช้สารเหล่านี้ได้ รัฐบาลต้องหาสารทดแทนที่เหมาะสมทั้งในเชิงประสิทธิภาพและต้นทุน

ขณะที่นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยอันดับที่ 5 ส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อย 134 ล้านตันต่อปี การแบนสารเคมีเกษตร จะทำให้ผลผลิตลดลง 20-50% หากไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะสูญหายไป

11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 7,400 ล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียรายได้ 58,000 ล้านบาท รวมทั้ง ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล สูญเสีย 92,000 ล้านบาท สะเทือนมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวม 300,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคน และโรงงาน น้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน อาจถึงขั้นเลิกทำอาชีพ การเกษตร และเลิกการจ้างงานในที่สุด

เช่นเดียวกับนายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความเห็นว่า การแบน 3 สารเคมีการเกษตร จะกระทบกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 58,000 ล้านบาท จึงมองว่ารัฐควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจทำอะไร มันสำปะหลังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ยังมองไม่เห็นว่ามีเทคโนโลยีหรือสารใดที่จะมาทดแทนได้

...

ส่วนนายทนงศักดิ์ ไทยจงรักษ์ กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หากมีการแบนสารกำจัดศัตรูพืชจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเสียหายรวมมูลค่า 8,000 ล้านบาท กระทบกับการส่งออกข้าวโพดหวานที่ไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก มูลค่า 6,600 ล้านบาทต่อปี

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า การแบน 3 สารจะเกิดผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่มีการใช้สารเคมี 3 ตัวนี้ จะไม่สามารถนำเข้ามาใช้ในการผลิต อาหารสัตว์เกินกว่าครึ่ง โดยเฉพาะสินค้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองซึ่งประเทศที่นำเข้าหลัก 3 ประเทศยังคงมีการใช้สารไกลโฟเซตในการจัดการแปลง

“อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบไล่ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ มายังโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 789 โรงงานต้องเจ๊งปิดตัว คนตกงานแน่นอน 1 ล้านครัวเรือน เพราะผลกระทบจะเกิดต่อเนื่องไปยังเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมดอาชีพ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าว ก็ขาดตลาดรองรับ จนท้ายที่สุดไปกระทบถึงอาหารต่างๆที่ส่งขายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 800,000 ล้านบาท ขอถามว่าใครจะรับผิดชอบ ต่อไปประเทศไทยจะเลี้ยงไก่ไม่ได้ เพราะไม่มีอาหารสัตว์ จะเกิดวิกฤติอาหารขาดแคลน และราคาแพง ก็ต้องไปซื้อไก่จากเวียดนามตัวละ 300 บาทก็แล้วกัน” นายพรศิลป์กล่าว

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวอีกว่า ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการบังคับใช้การยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ระหว่างการชะลอการบังคับใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย การป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค ควรมีการควบคุมจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการทำเกษตรที่ดีและเหมาะสม ศึกษาทบทวนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องและผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการยกเลิกการใช้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาและพิสูจน์ประสิทธิภาพและต้นทุนของสารหรือวิธีการทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจน

...

อีกด้าน วันเดียวกัน สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมนวัตกรรมเกษตรไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร แถลงจุดยืน กรณีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่า ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว กอปรกับมาตรการรองรับการแบนยังไม่มีการประกาศ หรือชี้แจงให้ผู้มีผลกระทบรับทราบเพื่อเตรียมการ รวมถึงการกำหนดให้ผู้เสียหายรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเหล่านี้เอง ถือเป็นความอยุติธรรม อย่างยิ่ง เนื่องจากสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีมติให้แบนสารดังกล่าว มีผลทางกฎหมายในวันที่ 1 ธ.ค. สารทั้ง 3 ชนิดจะกลายเป็นสารที่ผิดกฎหมายทันที ดังนั้น เมื่อภาครัฐมีมติให้แบน หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายอยู่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดเชยความเสียหาย ไม่ควรผลักภาระให้เอกชนและเกษตรกรรับผิดชอบเอง