การย้อมสีผ้าเป็นภูมิปัญญาโบราณของไทย มีทั้งใช้เปลือกไม้ เมล็ด หมักโคลน กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนแต่ละพื้นที่ แม้เทคโนโลยีการย้อมผ้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเปลือกมะพร้าวมาย้อมสีผ้าถือเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พ่วงด้วยการเพิ่มอัตลักษณ์ให้ท้องถิ่น

วราภรณ์ มนัสรังษี ประธานบริหาร บ.ออลโคโค กรุ๊ป จำกัด ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เผยว่า เดิมปลูกมะพร้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมาถึงรุ่นตัวเองจึงเปลี่ยนจากปลูกอย่างเดียวมาเป็นแปรรูป และขายมะพร้าวน้ำหอมและผลิตภัณฑ์ กระทั่งตั้งบริษัทมาจนปัจจุบัน วันหนึ่งมองว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งได้มากกว่าเป็นแค่วัสดุปลูกหรือปุ๋ย

น่าจะมีอะไรเพิ่มขึ้นมาในแง่ของอัตลักษณ์คนบ้านแพ้ว ที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกันเยอะ ซึ่งก็น่าจะเป็นอะไรที่ใหม่ ยังไม่มีใครทำมาก่อน ในที่สุดมาลงตัวที่การนำมาย้อมสีผ้า หลัง จากลองผิดลองถูกมาเรื่อย จนประสบผลสำเร็จได้สูตรย้อมสีผ้า ด้วยเปลือกมะพร้าวในปัจจุบัน

วราภรณ์ อธิบายถึงกรรมวิธีการผลิต เริ่มจากนำกระทะใส่น้ำ ผสมเกลือ 0.5% ของปริมาณน้ำเพื่อให้จับยึดจับสีเปลือกมะพร้าวให้ติดทนนานกับเนื้อผ้า เคี่ยวไฟให้น้ำเดือด จากนั้นใส่เปลือกมะพร้าวตามต้องการ หากต้องการสีเข้มก็ใส่เปลือกมะพร้าวมาก สีอ่อนก็ใส่น้อย เคี่ยวต่อไป 3 ชม. จึงนำผ้า เส้นใยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมแช่ลงไปให้ทั่ว ทิ้งไว้ 45 นาที ระหว่างนี้ให้คนให้ทั่วทุก 15 นาที

...

จากนั้นนำขึ้นตากจนแห้งจะได้ผ้าและเส้นด้ายเป็นสีน้ำตาล นำไปตัดเย็บหรือทอได้ตามต้องการ ส่วนเปลือกมะพร้าวที่ผ่านการย้อมสีแล้ว ยังสามารถนำไปทำวัสดุปลูก ปุ๋ย หรือน้ำหมักได้เช่นเดิม

ปัจจุบัน วราภรณ์ เปิดอบรมหลักสูตรการย้อมผ้าจากเปลือกมะพร้าวให้กับโรงเรียนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง กลุ่มแม่บ้าน และผู้สนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งเสื้อ กระเป๋าผ้าบาติก สร้างรายได้ให้ชุมชน จนผลิตภัณฑ์เหล่านี้กำลังก้าวสู่อีกหนึ่งอัตลักษณ์ของคนบ้านแพ้ว สมุทรสาคร.