นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุบัติภัยบนท้องถนนสูงติดอันดับต้นๆของโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาใหญ่ของไทย และจากข้อมูลการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการขนส่งทางบกที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นข้อมูลประชาชนสิทธิบัตรทองและสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระหว่างปี 2558-2561 พบว่า 4 ปีมีผู้บาดเจ็บ 265,243 ราย เสียชีวิต 13,861 ราย ค่ารักษากว่า 6,015 ล้านบาท

แยกเป็นแต่ละปี ดังนี้ ปี 2558 บาดเจ็บ 62,773 ราย เสียชีวิต 3,509 ราย ค่ารักษา 1,308 ล้านบาท, ปี 2559 บาดเจ็บ 63,981 ราย เสียชีวิต 3,486 ราย ค่ารักษา 1,534 ล้านบาท, ปี 2560 บาดเจ็บ 67,517 ราย เสียชีวิต 3,440 ราย ค่ารักษา 1,529 ล้านบาท และปี 2561 บาดเจ็บ 70,972 ราย เสียชีวิต 3,426 ราย ค่ารักษา 1,644 ล้านบาท ตลอด 4 ปีของการเก็บข้อมูลมีประชาชน

คนเดินเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ 10,672 ราย เสียชีวิต 916 ราย คิดเป็น 8.6% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ เมื่อเทียบเคียงระหว่างการบาดเจ็บและเสียชีวิต สำหรับกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ ได้แก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวซึ่งเก็บเฉพาะประชาชนสิทธิบัตรทอง และสิทธิ อปท. ก็จะเห็นว่าปัญหาอุบัติภัยทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนพยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การรณรงค์ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติของไทยที่ต้องทำเป็นระบบและดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว.

...