“เยียวยาแนวพุทธ” ให้คำปรึกษา “เยี่ยมไข้ผู้ป่วย” ตามโรงพยาบาล ที่เกิดจาก “พระภิกษุสงฆ์” ศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวิตและความตาย ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เริ่มจากมีการนำองค์ความรู้ห้องเรียนออกสู่การปฏิบัติจริง สามารถขยายเครือข่ายคณะสงฆ์จิตอาสาทั่วประเทศ
ในการปฏิบัติการ “กลุ่มจิตอาสาคิลานธรรม” ให้มีบทบาท “เยียวยาใจด้วยธรรมะ” มีความปรารถนาช่วยเหลือให้คนประสบความทุกข์ใจ โดยเฉพาะผู้ป่วย และญาติ ที่เรียกว่า “คนมีทุกข์” ให้ได้บรรเทาคลายจากความทุกข์ภายในจิตใจ...
กลายเป็นการสร้างสรรค์ “นวัตกรรมแห่งการดูแลจิตใจ” เชื่อมโยงเครือข่ายสู่สังคมไทย...ด้วยวิถีคิลานธรรม...วิถีแห่งความดับทุกข์...
บทบาทของคณะสงฆ์บำบัดทุกข์นี้ พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม ให้ข้อมูลว่า นวัตกรรมแห่งการเยียวยาใจด้วยธรรมะของกลุ่มจิตอาสาคิลานธรรม มีหลัก 3 ด้าน คือ ด้านที่หนึ่ง...
“งานคลินิก” ออกเยี่ยมไข้ผู้ป่วยตามโรงพยาบาล ด้วยวิถีหลักการพุทธจิตวิทยาแนวพุทธ มีจุดประสงค์ให้คลายทุกข์อยู่ในใจของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ให้การดูแลผู้ป่วยด้วย
มีฐานหลัก “อริยสัจสี่” คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หนึ่ง...“ทุกข์” ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ สอง...“สมุทัย” ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ สาม...“นิโรธ” ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์ สี่...“มรรค” ความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์
ด้านที่สอง...“งานอบรมบุคคลภายนอก” ให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงบุคคลทั่วไป และจิตอาสาต่างๆ เน้นเนื้อหาเรื่องความเข้าใจในชีวิต หรือเรื่องการเสริมทักษะกระบวนการให้คำปรึกษาคลายทุกข์ด้วยธรรมะ
...
และด้านที่สาม...“งานพัฒนาบุคลากรภายใน” ในการจัดอบรมให้คณะสงฆ์ ถวายความรู้ ทักษะความชำนาญ ให้เกิดกระบวนการวิธีดับทุกข์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยคนมีทุกข์ และเสริมสร้างให้จิตอาสาคิลานธรรม มีเกราะป้องกันให้รู้จักปล่อยวาง เพราะบางครั้งอาจดึงความทุกข์ผู้อื่นมาไว้กับตัวเองมากเกินไป จนเกิดทุกข์นั้นขึ้นตามมา
สิ่งสำคัญ...คือ สร้างคณะสงฆ์รุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมทำงานจิตอาสา...สานต่อโครงการนี้ มีจุดประสงค์นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย จนสามารถยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ให้อยู่กับความทุกข์ทางกายแบบไม่ทรมานจิตใจ
ที่เกิดจากการผสมผสานของหลักวิทยาศาสตร์และหลักคำสอนทางพุทธศาสนา กลายเป็น “นวัตกรรมแห่งการดูแลจิตใจด้วยองค์พระธรรม” เพราะหลัก “วิทยาศาสตร์” คือ ต้องมีเหตุและผล ส่วน “พุทธศาสนา” ก็ต้องมีหลักเหตุและผลเช่นกัน ซึ่งองค์ประกอบนี้คือหัวใจสำคัญของความทุกข์ที่เกิดจากเหตุและผลในใจ
ยกตัวอย่าง...เมื่อ “ตา” เห็นสิ่งชอบ คือ “เหตุ” ต้องการยึดเป็นของตัวเอง หากไม่ได้ตามปรารถนาก็เกิดทุกข์ คือ “ผล” สิ่งนี้เป็นวัฏจักร ที่เรียกว่า “หลักวิทยาศาสตร์ทางจิต”...ของเหตุผล
ทำให้ในการเข้า “บำบัดทุกข์ในใจ”...ต้องค้นหาต้นเหตุที่เกิดความไม่สบายใจ จากนั้นก็ชวนคนมีทุกข์หาเหตุจากผลที่ปรากฏเกิดความทุกข์ ตามกระบวนการ “พุทธจิตวิทยา” ด้วยการใช้ “ทักษะการฟัง” อย่างเข้าใจปัญหาถ่องแท้ หากรู้ถึงความไม่สบายใจของเหตุและผลในเรื่อง
อะไร ต้องแก้ไขเรื่องนั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะใช้รูปแบบการจู่โจมให้คำปรึกษาในลักษณะ “การสั่งสอน” ไม่ได้
อีกทั้งคนบำบัดทุกข์ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ยอมรับฟังผู้อื่นอย่างเสียสละ มีสติ มีปัญญาจับประเด็นปัญหา ในการอยู่เคียงข้างผู้ไม่สบายใจ และต้องใช้ใจคุยกัน เพื่อให้เข้าถึงเหตุผลความไม่สบายใจออกมาจากใจจริง ถือว่า...เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดความเชื่อใจกัน
เมื่อรู้ถึงเหตุผลเกิดทุกข์อย่างถ่องแท้แล้ว...ก็เข้าสู่แนวทางคลายความทุกข์ ด้วยวิธีช่วยหาทางออกร่วมกัน ที่ไม่ใช่เร่งด่วนสรุป หรือด่วนตัดสิน หากเช่นนั้นอาจจะต้องรับความทุกข์ผู้อื่น และกลับไปนอนเป็นทุกข์เองก็ได้
พระโชติก อภิชาโต หนึ่งในจิตอาสาคิลานธรรม อธิบายเพิ่มว่า จิตอาสาคิลานธรรมไม่ใช่รูปแบบการสอนหลักธรรม แต่ใช้หลัก “เกื้อกูล กรุณา” ด้วยการพูดคุยและรับฟังปัญหาของคนมีทุกข์ ในการชวนให้กลับมารู้สึกตัว...มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ที่จะเห็นประเด็นปัญหาให้มีความชัดเจนในการทำหน้าที่เสมือนเป็นกระจกใส สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และใช้ความเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ชักชวนให้เห็นความทุกข์นั้น โดยเฉพาะผู้ป่วย มักเผชิญปัญหาลำพัง ไม่มีที่พึ่งชัดเจน ทำให้ไม่เห็นคุณค่าความดีตัวเอง
ทำให้ “คณะสงฆ์” ที่ทำหน้าที่นี้ต้องถูกฝึกฝนอย่างดีมีหลักความเชื่อความศรัทธาที่ว่า “มนุษย์สามารถพัฒนาได้ แม้จิตสุดท้าย” ที่เสมือนแก้วน้ำขุ่นมัว ต้องใช้เวลาตกตะกอนก่อนที่จะเกิดมีน้ำใสโผล่ขึ้นมา ทำให้คนมีทุกข์ได้เห็นต้นทุนเดิม ในเรื่องเคยทำความดี หรือเคยทำประโยชน์ต่อคนอื่น สังคม สร้างความมั่นใจ ให้สามารถหาวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ได้ด้วยตัวเอง และต้องหาความกังวล และความห่วงที่สุดในใจ เพื่อคลายความกังวลนั้น
ยกตัวอย่าง...มีผู้ป่วยหญิงชราระยะสุดท้าย ที่คณะสงฆ์จิตอาสาฯ รับกิจนิมนต์ให้เข้าช่วยเหลือ “เยียวยาใจด้วยธรรมะ” เพราะความเป็นห่วงลูกสาว ด้วยการชักชวนให้เห็นถึงการทำหน้าที่เป็นแม่ที่ดีมาตลอด และลูกมีความมั่นคงอยู่ได้ลำพัง หรือมีญาติคอยช่วยเหลืออย่างดี เพื่อปลดล็อกความกังวลความห่วงนี้ของผู้ป่วย
...
แต่ด้วยตามธรรมชาติของมนุษย์มักกลัวการซ่อนเร้นในเส้นทางที่ไม่เคยเดินออกไป ทำให้ต้องชักชวนหันมาเห็นที่พึ่งทางใจ ในการสร้างความมั่นใจ เรื่องผลบุญเคยทำคุณงามความดี จะช่วยส่งเสริมนำสู่สิ่งดีกว่า หรือภพภูมิที่ดี หลังจากนั้นไม่นาน...หญิงชรารายนี้ก็จากไปอย่างมีความสุข...
สิ่งสำคัญ...ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ต้องโยงให้มีความศรัทธา ดึงความทุกข์ออกมาหาที่พึ่ง กลายเป็นความรู้สึกอบอุ่นใจ...ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกำลังจะจากไป...ไม่มีห่วง ก่อนจากไปอย่างมีจิตคุณภาพ...มีใจที่สงบ นำพาไปสู่ความสุคติขึ้นสวรรค์แท้จริง ที่เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาแบบนี้เช่นกัน
แต่มักไม่มีใครรู้กันว่า...ต้องทำกันอย่างไร? ทำให้ “จิตอาสาคิลานธรรม” ต้องเข้ามาทำงานในบทบาทช่วยเยียวยาจิตใจนี้ เพื่อให้ทุกคนคลายทุกข์ของ “การเกื้อกูลกัน” ที่ไม่ใช่เฉพาะศาสนาพุทธ แต่มีความยินดีในทุกศาสนา...บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
เช่นเดียวกับ พระมหาถาวร ถาวโร หนึ่งในจิตอาสาคิลานธรรม บอกอีกว่า หลักเยียวยาใจ คือการรับฟังความปรารถนาให้ถึงแก่นแท้ เพราะทุกคนมีความต้องการไม่ตรงกัน เช่น บางคนอยากตาย...แต่เบื้องหลังความตายนั้น กลับมีความปรารถนาอย่างอื่น หรือต้องการให้คนเห็นคุณค่า เช่น ผู้ป่วยไม่อยากเจ็บปวดโรครุมเร้า...ต้องหนีความเจ็บปวดนั้น...ด้วยความตาย
การรู้จักฟังให้เป็น คือ ฟังด้วยความบริสุทธิ์ ความเมตตา ความกรุณา ที่ต้องรับรู้ถึงความรู้สึก ความเชื่อ ความศรัทธาที่ไม่นำความเชื่อ หรือความรู้ส่วนตัวเอง ออกไปสั่งสอน เมื่อรู้แก่นแท้...ก็นำความปรารถนานั้น ...เปลี่ยนเป็นจุดแข็งด้วยการ “ใช้ทักษะธรรมะ” ดูแลผู้ป่วย หรือคนมีทุกข์ ด้านการเยียวยาจิตใจ
มองอีกมุม...คือ เป็นการสร้างพระกลุ่มใหม่ขึ้นมา...เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับสังคมไทย พยายามแสวงหากระบวนการอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมสมัย ที่ยังช่วยขัดเกลาจิตใจตัวเอง และตระหนักถึงคุณค่าของพุทธธรรม
...
คนมีทุกข์...ไม่ต้องพูดหรือทำอะไรมาก...“แค่จับมือ” แสดงถึง “ความกรุณา” อย่างจริงใจ ให้เขารู้สึกอุ่นใจ ก็สามารถช่วยเยียวยา “ปลดปล่อยความทุกข์ออกจากใจของเขา” ได้แล้ว.