ปัจจุบันนอกจากยางพาราจะประสบปัญหาราคาตกต่ำแล้ว ยังต้องเตรียมรับมือกับวิกฤติต่างๆที่เตรียมจะถาโถมเข้ามา

ปี 2563 สหภาพยุโรปหรืออียูจะประกาศไม่รับซื้อน้ำยาง และไม้ยางที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ทั้ง Forest Stewardship Council (FSC) และ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC)

ล่าสุด บริษัท มิชลิน ยักษ์ใหญ่ด้านยางรถยนต์ ของฝรั่งเศส บริษัท อิเกีย ของสวีเดน ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของโลก ออกตัวแล้วว่า หลังจากสิ้นปีนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะไม่ซื้อยางพารา และไม้ยางพาราที่มีการบุกรุกป่า ที่น่าวิตกเข้าไปอีก บริษัทจากต่างประเทศหลายแห่งล้วนเห็นดีเห็นงามท่าทีคล้อยตามไปกับเรื่องนี้

ถือเป็นวิบากกรรมในระยะยาวของอุตสาหกรรมยางไทย เพราะเห็นตัวเลขของภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเศร้า ขณะนี้ไทยมีสวนยางที่มีการจัดการและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน การจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติแค่ 122,658 ไร่ หรือ 0.5% ของสวนยางทั้งประเทศเท่านั้นเอง

แสดงให้เห็นชัดเจน เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพาราส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในมาตรฐานการนี้เท่าใดนัก

จริงอยู่ไทยส่งออกยางพาราไปจีนเป็นตลาดหลัก แต่ก็มีโอกาสสูงมากที่จีนก็เตรียมประกาศใช้มาตรการเดียวกันในเร็วๆนี้ เพราะถือเป็นมาตรฐานในการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ของโลก ที่นับวันจะร่อยหรอลงทุกขณะ

จะมัวมานั่งประกันราคา, โครงการ 1 ตำบล 1 ถนนยางพารา ที่หวังเพิ่มการบริโภคในประเทศ ทั้งที่เป็นของดแต่ดันไปขัดแข้งขากันเอง หรือจะกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน ให้คนในอุตสาหกรรมปรับตัว รับมือ ได้ทันท่วงที คิดเอาเองนะท่าน.