การใช้ “ธรรมะ” ในรูปแบบ “การเยียวยาจิตใจ” นำกระบวนการจิตวิทยา มาให้คำปรึกษาตามแนว “พุทธ” ในการรักษาจิตวิญญาณด้วยธรรมะ ถูกนำมาใช้ควบคู่กับการแพทย์สมัยใหม่กลายเป็นทางเลือกในการรักษาเยียวยาใจให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น

ซึ่งเป็นแนวทางการช่วยให้ผู้ป่วย ญาติ บรรเทาทุกข์ภายในใจ สามารถยอมรับและกล้าเผชิญทุกข์ตามความเป็นจริง จุดเริ่มต้นของ “โครงการเยียวยาใจด้วยธรรมะ” ของพระภิกษุสงฆ์จิตอาสาคิลานธรรม ร่วมกับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

ถูกนำมาประยุกต์รักษาแก้โรคทางใจกับผู้ป่วยสิ้นหวัง ให้รู้จักปล่อยวางโรค เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้สงบ...มีผลดีต่อสุขภาพร่างกาย อาจสามารถช่วยยื้ออาการของโรคดีขึ้นตามมา...อีกทั้งยังสามารถดูแลจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ให้การดูแลรักษาด้วยเช่นกัน

มิติแห่งการรักษาทางการแพทย์ควบคู่ไปกับมิติแห่งการเยียวยาใจด้วยธรรมะนี้ นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค รอง ผอ.ฝ่ายสำนักศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ให้ข้อมูลว่าในปี 2551 “พระภิกษุสงฆ์” จบหลักสูตรชีวิตและความตาย และพุทธจิตวิทยา ในระดับปริญญาโท ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รวมตัวกัน

ในนาม “กลุ่มอาสาคิลานธรรม” มีจุดประสงค์ต้องการช่วยเหลือสังคม...ด้วยการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยและญาติ ที่มีทั้งผู้ป่วยที่รู้สึกตัวไม่รู้สึกตัว และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในโรงพยาบาลต่างๆในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในการให้ความช่วยเหลือผู้เผชิญภาวะวิกฤติ กำลังประสบความทุกข์ใจ ให้ยอมรับกล้าเผชิญกับความทุกข์ตามความจริง ด้วยการสอดแทรกหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดกำลังใจที่ดี

...

ตามหลักการปฏิบัติกลุ่มคิลานธรรม ไม่ใช่เป็นการเทศนาเป็นภาษาบาลี เพราะผู้ป่วยอาจไม่สามารถตีความภาษาหลักธรรมะได้ แต่ใช้วิธีให้คำปรึกษา ทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจง่ายในการแก้ปัญหาความในใจ ทั้งความผิดหวัง ความเสียใจ ความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดจากความคิด...ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

กระทั่งสามารถมองเห็นเป้าหมายชีวิต สามารถแก้ความทุกข์และปัญหาตนเองได้ นำมาสู่ความสดชื่นร่าเริง กระบวนการนี้คือการเยียวยาใจด้วยธรรมะ เสมือนเป็นที่พึ่งทางใจให้ผู้ป่วยคลี่คลายทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้รู้ถึงความจริงของธรรมชาติชีวิต ตามแนวพุทธธรรม นำทางไปสู่ความสงบใจ

กลายเป็น “มิติใหม่” ของการนำหลักคำสอน “พระพุทธศาสนา” มาใช้เชิงรุกด้วย “กระบวนการเยียวยาใจ” อีกทั้งยังสามารถช่วยดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มักเกิดอาการซึมเศร้า

ทั้งผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีโรคแทรกซ้อน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูญเสียเฉียบพลัน เช่น พิการ หรือแท้งลูก ให้กล้ายอมรับความจริง ควบคู่กับพัฒนาคุณภาพชีวิตตามศักยภาพ

แต่ทั้งหมดนี้ “พระภิกษุสงฆ์อาสาคิลานธรรม” จะเข้ามาเยียวยาจิตใจผู้ป่วยได้นั้น ต้องมีคำร้องขอตามรูปแบบงานการประกอบศาสนกิจของฝ่ายสงฆ์ หรือเรียกว่า “กิจนิมนต์” ที่ไม่ใช่ว่า “พระภิกษุสงฆ์” สามารถเข้าโรงพยาบาลแล้วเดินมาหาผู้ป่วยได้ด้วยตัวเอง...

อีกทั้งหลักการปฏิบัติในโรงพยาบาล ต้องยึดกฎระเบียบตามหลักสากลทั่วไป ในเรื่อง “รักษาความลับ” ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติกันของโรงพยาบาล ทำให้กลุ่มอาสาคิลานธรรมต้องผ่านการอบรมหลักสูตร “การรักษาความลับผู้ป่วย” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพ 2550 และในเรื่องเกี่ยวกับการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงเบื้องต้น ในการป้องกันโรคติดต่อ เพื่อเป็นแนวทางให้มีความปลอดภัย ตามหลักสูตรกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดมา

“กลุ่มอาสาคิลานธรรมมีหลักยึดตาม “จริยธรรมเสมือนเป็นแพทย์” เรื่องเก็บความลับของผู้ป่วยและญาติ ในสิ่งตรวจพบจากตัวคนไข้ หรือ คนไข้บอกเล่าให้ทราบ ต้องมีหน้าที่รักษาเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อผู้อื่น แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องสุขภาพ และความลับคนไข้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น” นพ.ธนวัฒน์ ว่า

ที่ผ่านมา...โรงพยาบาลมักเผชิญปัญหาเรื่องการสื่อสาร อารมณ์ และความคาดหวังกับผู้ป่วย ที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะตัวผู้ป่วย แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับตัวบุคลากรด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความขัดแย้งทางใจไม่ตรงเป้าที่คาดหวัง กลายเป็นการร้องเรียนบุคลากรมากมายหลายเรื่อง นำไปสู่ คดีความฟ้องโรงพยาบาลอยู่เป็นระยะ

สาเหตุหนึ่งมาจากบุคลากรทางการแพทย์ต้องพบเจอความทุกข์ทั้งของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงความทุกข์ของตนเอง มีผลเป็นสภาวะอารมณ์กระตุ้นสิ่งเร้า จนเกิดความขัดแย้งกับผู้ป่วยขึ้นด้วย ทำให้ต้องหันมาดูแลใจบุคลากรเช่นกัน ในกิจกรรมสนทนากลุ่ม “คลินิกธรรมะรักษาใจ” นำโดยกลุ่มอาสาคิลานธรรม ให้สมาชิกในกลุ่มระบายความทุกข์ และรับฟังซึ่งกันและกัน

จนกลายเป็นว่า...ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การสื่อสาร หรือความคาดหวังของผู้ป่วยดีขึ้นเสมือนเกิดเป็นองค์ความรู้ปรับจูนความขัดแย้งระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย ให้เป็นไปในแนวทางที่ดี และมีผล 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้...การร้องเรียน...ฟ้องร้อง...ลดน้อยลง

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า...โรงพยาบาลนำพระสงฆ์มาเป็นเกราะป้องกันเรื่องการฟ้องร้องจากผู้ป่วย แต่เพราะทุกฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ป่วยและญาติ ก็มีความเข้าใจกับโรคที่กำลังเผชิญอยู่ มีมุมมองเรื่องราวการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายดีมากขึ้น...ด้วยการใช้ “ธรรมะเป็นสื่อกลาง” ทำให้การร้องเรียนและฟ้องร้องน้อย...

...

ปัจจุบันมีผู้ป่วยมาใช้บริการด้านสุขภาพลักษณะผู้ป่วยนอกประมาณ 4 แสนคนต่อปี หรือวันละ 1,500 คนต่อวัน สำหรับผู้ป่วยใน มีเตียงผู้ป่วยทั้งหมด 400 เตียง อัตราผู้ป่วยในประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง เข้าระบบการรักษาเยียวยาจิตใจด้วยธรรมะที่เกิดผลลัพธ์ในทางดีเพิ่มขึ้น

เรื่องนี้มีผลชี้วัดเป็นเชิงตัวเลขถึงความพึงพอใจและอัตราการใช้ยา หรือความเจ็บปวดของผู้ป่วยลดลง สามารถอยู่ได้ตามสภาพอาการที่เป็นอยู่ เพราะโรคบางโรคไม่มีโอกาสรักษาหาย...ย่อมมีสภาวะความเจ็บปวดทางใจ มีผลให้เกิดการเจ็บปวดทางกายตามมา

นั่นหมายความว่า...“หากผู้ป่วยมีจิตใจสงบ เกิดความสุขทางใจ... ย่อมเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดให้กับบาดแผลของโรคทางกายได้ด้วย” ...ในการอนาคตอาจต้องการเก็บข้อมูล ความทนทุกข์ทางด้านอื่นเพิ่มเติมด้วย

ยกตัวอย่าง...หากพูดถึง “โรคมะเร็ง” โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย อาจสามารถอยู่รอดได้อีกประมาณ 4-6 เดือน แม้ว่ามียาวิเศษแค่ไหน ก็ยื้อระยะเวลาไม่ได้ เคยมีผู้ป่วยที่ผ่านการ “เยียวยาด้วยธรรมะ” กลับสามารถลดความเจ็บปวด หรือความทรมาน และความห่วงกังวลน้อยลง หรือเรียกว่า “คุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ ให้เกิดเป็นความสุขมากขึ้น” แต่การพยากรณ์ความอยู่รอดของโรคยังคงเดิม

ตามหลักผู้ป่วยที่มีกำลังใจดี สามารถสร้างแรงกายในการต่อสู้ยื้อชีวิตนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีผลพิสูจน์เชิงทางวารสาร หรือเชิงสถิติทางการแพทย์ชี้วัดเป็นที่แน่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ทางวิทยาศาสตร์เคยมีผลการศึกษาทางอ้อมอาจมีผลให้เกิดความต้านทานของร่างกาย ทำให้สามารถสู้กับเซลล์มะเร็งดีขึ้นได้

...

ถ้ามองถึงประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ หรือบุคคลผู้ดูแลผู้ป่วย ก็มักสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกกันว่า...เวลาผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้รับกำลังใจที่ดี มีความสุขทางใจ โดยมากมักทำให้มีอาการป่วยอยู่นั้นดีขึ้นตามมาด้วย และอาจสามารถยื้อระยะเวลาได้สักระยะหนึ่ง ที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง...มีบางคนสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ด้วยซ้ำ

“ธรรมะ” คือ “ยาดี” ด้วยวิธีการอาศัยพิธีกรรมเป็นตัวเชื่อม “ศรัทธา” ในการช่วยเติมเต็ม ความเชื่อมั่น...ยอมรับความจริง กลายเป็น “ความสุข” ที่ต้องจากไปอย่างมีคุณภาพ.