เราต่างทราบดีว่าปะการังธรรมชาติในท้องทะเลเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพชีวิต และชีวิตน้อยใหญ่เหล่านั้นก็เกี่ยวข้องกับอาหารของประชากรโลก แต่ปัญหาคือ ปะการังธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ จากฝีมือของมนุษย์เอง หลายฝ่ายจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้กลไกของห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลได้ฟื้นคืนกลับ การวาง ‘ปะการังเทียม’ สู่ทะเล เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนการร่วมแรงใจกันเพื่อชีวิตในท้องทะเล ทั้งหน่วยงานภาครัฐ จนถึงภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญ อย่างล่าสุดที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี จับมือ กรมประมง วาง ‘ปะการังเทียม’ สู่ทะเลไทย จังหวัดสงขลา และนราธิวาส

ทำไมต้องเป็นปะการังเทียม

ปะการังเทียม หรือ Artificial Reef คือการจัดทำสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเลียนแบบแนวปะการังธรรมชาติที่ถูกทำลายและเหลือจำนวนน้อยลง โดยการใช้วัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่ใช้วัสดุเป็นคอนกรีตล้วนจำพวก มาลีนไทด์ ซึ่งไม่ถูกกัดเซาะจากน้ำเค็ม นำมาจัดวางบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปาง หรือแนวปะการังธรรมชาติ เพื่อให้สัตว์น้ำกำบังหรือหลบซ่อนตัว

จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทยก็ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยลดจำนวนลงอย่างมาก กรมประมงในฐานะผู้กำกับดูแลด้านนี้จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ อธิบดีกรมประมง ‘คุณวิชาญ อิงศรีสว่าง’ ให้ข้อมูลว่า กรมประมงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเล โดยการจัดสร้างปะการังเทียมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะจากภาคเอกชนที่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย ทำให้การวางปะการังเทียมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลดีต่อระบบนิเวศในท้องทะเลอีกด้วย

SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน

ผลจากการมีปะการังเทียมที่ชัดเจนที่สุดคือ สัตว์น้ำได้ใช้เป็นแหล่งอาศัย หลบภัย วางไข่ และเลี้ยงตัวเอง ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ในขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมง ซึ่งป้องกันการทำประมงในลักษณะทำลายทรัพยากรได้ในตัว นับเป็นความยั่งยืนอย่างหนึ่งตามแนวทางของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินการผ่านแนวคิด SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ตั้งแต่ นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชูการทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย การส่งเสริมศักยภาพชีวิตชุมชน เช่น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เช่น โครงการป่าชายเลน โครงการปะการังเทียม บ้านปลา แนวเขตและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ภายใต้โครงการธนาคารสัตว์น้ำ การวิจัยและพัฒนา โดยร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลระดับประเทศ ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

การร่วมมือกับกรมประมงในครั้งนี้จึงถือเป็นพัฒนาการอีกหนึ่งก้าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย และอนาคตของชาติอีกขั้น โดยได้จัดวางปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ในพื้นที่ชุมชนทะเลชายฝั่ง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมุ่งหวังให้ท้องทะเลภาคใต้ของไทยฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ และทำให้พี่น้องชาวชุมชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น