ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การปฏิวัติทางเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติมนุษย์ ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา โลกเรามุ่งเน้นสู่ความทันสมัย โดยยึดติดกับ “สังคมของฉัน” หรือความเป็นตัวตน แต่ตอนนี้เราต้องปรับไปสู่ความยั่งยืน โดยเปลี่ยนเป็น “สังคมของเรา” ที่ถือเป็นการเติบโตอย่างสมดุลโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยการนำ 9 กระแสหลักในการเปลี่ยนสู่สังคมใหม่ ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนไปสู่ความคิดใหม่ “เลิกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ให้เอาโลกเป็นศูนย์กลาง” 2.เปลี่ยนจากที่คิดว่า “ทรัพยากรธรรมชาติใช้ไม่มีวันหมด เป็นการมองว่าโลกคือแหล่งกำเนิดทรัพยากร” ที่จะต้องใช้อย่างรู้คุณค่า เพื่อคนรุ่นหลัง 3.เปลี่ยนจากแนวคิดที่ว่า “เดิมความรู้คืออำนาจ แต่พลังอำนาจในวันนี้เกิดจากการแบ่งปันความรู้ในต่างมุมต่างมิติ” 4.เปลี่ยนจาก “สร้างคนเพื่อเป็นปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสร้างคนด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ”
5.เปลี่ยนจาก “บังคับใช้กฎและประชาชนไม่มีส่วนร่วม เป็นการเติมเต็มศักยภาพและสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน” 6.เปลี่ยนจาก “โอกาสและทรัพยากรสามารถเข้าถึงได้อย่างจำกัดเฉพาะกลุ่ม เป็นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรได้” 7.เปลี่ยนจาก “การมีอภิสิทธิ์พิเศษส่วนบุคคล เป็นการให้สิทธิที่ทุกคนพึงได้อย่างเท่าเทียมกัน” 8.เปลี่ยน “ระบบที่มีการจัดชั้นอำนาจแบบมีศูนย์กลางเดียว เป็นระบบเครือข่ายที่มีการกระจายอำนาจในต่างระดับ” 9. เปลี่ยนจาก “ธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างแบรนด์และผลกำไร เป็นการสร้างจุดยืนและเป้าประสงค์ของธุรกิจ”
...
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้ง 9 กระบวนทัศน์ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย ตนขอเน้นว่า พวกเราทุกคนคือผู้กำหนดอนาคต ดังนั้นต้องคิดการใหญ่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก “สังคมของฉัน” เป็น “สังคมของเรา” เพื่อสร้างโลกและสังคมที่ดีกว่านี้.