อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลส่งออกเป็นลำดับ 3 รองจากยางพาราและข้าว มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 11 ล้านไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่า 1 ล้านราย สร้างรายได้ปีละเกือบ 300,000 ล้านบาท ไม่รวมรายได้จากผลพลอยได้จากเอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล กระดาษ ปุ๋ย อาหาร เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร
แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านระบบการผลิต ภัยแล้ง น้ำท่วม การเผาอ้อย ขาดแคลนแรงงาน ที่สำคัญแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบไปทุกระดับ
แม้ภาครัฐจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่การ ลด แลก แจก แถมแบบเดิมๆ นอกจากไม่เกิดความยั่งยืน ยังสร้างความเคยชินรอแบมือขอ...จนมีเสียงบ่นจากผู้บริหารประเทศ
โครงการความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ (SHEEP for Sustainable Sugarcane) จึงก่อกำเนิดขึ้น จากความร่วมมือแบบเบ็ดเสร็จจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิต
รัฐ...สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เกษตรกร...สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรปลอดภัย เอกชน...บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด เพื่อยกระดับองค์ความรู้และนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมอ้อย ทั้งระดับฟาร์มและระดับโรงงาน ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล
เน้นการยกระดับสู่สากลในมาตรฐาน 5 ด้าน ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ มีความสุข มีสุขภาพที่ดี ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความเป็นอยู่ที่ดี และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยแต่ละหน่วยงานเล่นบทบาทของตัวเองตามความเชี่ยวชาญ
ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคเกษตรจะเปลี่ยนรูปโฉม...ภาพโรงงานจ้องเอาเปรียบซื้อผลผลิตราคาถูก เกษตรกรหาช่องทะเลาะกับพ่อค้าพร้อมสอดไส้แก้เผ็ดทุกเมื่อ ฝ่ายขายยาปัจจัยการผลิตก็มุ่งแต่ขายทำยอดเอาเงินเข้ากระเป๋า โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่วนภาครัฐที่คอยแต่จะมาออกนโยบายโกยตังค์ โดยเฉพาะรอให้เกษตรกรเดือดร้อน เพื่อเงินหัวคิวเยียวยา ไม่เคยมองถึงวิถีเกษตร เหล่านี้จะหมดไป (หรือเปล่า ต้องดูกันยาวๆ)
...
สะ–เล–เต