การตายของพริตตี้ที่เป็นข่าวดัง “เสียชีวิต” ใน “วันเกิด” ตัวเอง เป็นอีกสถิติที่บอกความน่าเชื่อถือได้ในข้อมูลที่จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักสะสมความรู้เรื่องจีนตั้งข้อสังเกตว่า...

“การทำบุญวันเกิดต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อย 20 วันก่อนวันเกิดจีน หรือประมาณ 1 เดือนก่อนวันเกิดสากล และถ้าให้ดี ใกล้ๆวันเกิดทำอีกที จะทำก่อนทำหลังทำวันตรงก็แล้วแต่ แถมยังเป็นตัวอย่างคนดวงตกที่ทำให้คนที่เจอกันก่อนตายล้วนดวงตกไปตามๆกัน...และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่คนจีนไหว้เจ้าเรื่อยๆตลอดปี

ไม่ใช่ไหว้แค่ตรุษจีน สารทจีน และกินเจ สะท้อนว่า...คนจีนแต่โบราณมีจังหวะของการต้องไหว้เสริมดวงทั้งต้นปี กลางปี และไหว้ก่อนปลายปี ทั้งสามเทศกาลก็มีกระบวนการไหว้ที่ศาลเจ้าที่แตกต่างกันชัดเจน”

จิตรา บอกอีกว่า เทศกาลกินเจมีความพิเศษกว่าการไหว้อื่นๆคือเป็นการเสริมดวงด้วยการต้องกินเจเป็นเวลา 9-10 วัน ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนเป็นวันกินล้างท้อง วันที่ 1 เดือน 9 จีนคือวันที่ 29 ก.ย. และวันที่ 9 เดือน 9 จีนปีนี้ตรงกับวันที่ 7 ต.ค. และการเสริมดวงที่ครบถ้วนคือไปไหว้ที่ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นสำหรับเทศกาลกินเจโดยเฉพาะ

เพราะ...เป็นการต้องตั้งไหว้เจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อกับเทพเจ้า 9 องค์ หรือคำจีนว่ากิวอ๋องเอี่ย ซึ่งภูมิปัญญาโบราณน่าจะต้องมีการตั้งอัฒจันทร์ฮวงจุ้ยพลังไว้ และทุกครั้งก่อนการเริ่มไหว้เทศกาลกินเจ ก็ต้องมีการทำพิธีสร้างปริมณฑลพลังขึ้นมา มีข้อห้ามผู้หญิงและคนที่ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาวเข้าในบริเวณปริมณฑลพิธี บางแห่งห้ามคนไหว้ปักธูปเอง แต่มีเจ้าหน้าที่ประจำที่ศาลเจ้าปักธูปให้ โดยองค์เจ้าแม่และเทพเจ้า 9 องค์อยู่ในห้อง...

ศาลเจ้าแนวนี้จะมีตำนานว่า เป็นข้ออ้างแอบประชุมลับของพวกอั้งยี่และกลุ่มการเมือง

...

แต่จากการที่จิตราตระเวนเก็บข้อมูลศาลเจ้าที่สร้างสำหรับเทศกาลกินเจเยอะมาก คิดว่า...“ศาลเจ้าที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่สร้างสะอาด ไหว้สะอาดก็มี ศาลเจ้าในแนวนี้ตั้งเจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อกับเทพเจ้า 9 องค์แบบเปิดเผย หากก็ยังมีการกั้นบริเวณห้ามคนนอกเข้าไปปักธูป และถือเคร่งเฉพาะคนใส่ชุดขาวเท่านั้นที่ให้เข้าไปไหว้ในศาลเจ้า เพราะต้องการรักษาปริมณฑลพิธีให้มีพลังขลังที่ไม่ถูกสิ่งใดมาลดทอน เช่นผู้หญิงเป็นเพศมีประจำเดือนเป็นของสกปรกที่ทอนพลัง”...หากจับประเด็นเรื่องวัตถุประสงค์การสร้างศาลเจ้าเทศกาลกินเจเดือน 9 จีน จิตราสรุปได้ว่า

“มี 3 สาย...หนึ่งสายพุทธมหายาน ไหว้เจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อ กับเทพเจ้า 9 องค์ที่เป็นทีมพระพุทธเจ้า 7 พระองค์กับพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ แบ่งภาคลงมาช่วยโลกเป็นเทพเจ้า 9 องค์ที่เป็นดาวนพเคราะห์ 9 ดวงคือ...

ดาวพระอาทิตย์ ดาวพระจันทร์ ดาวพระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ ดาวเนปจูน และ ดาวพลูโต ที่เป็นการดึงดูดพลังกันไปมาระหว่างโลกและดาวนพเคราะห์ที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศ น้ำขึ้นน้ำลง ช่วงวันที่ 1-9 เดือน 9 จีน เทพเจ้าทั้ง 9 จะเสด็จลงมาเยือนโลก จึงกินเจถวายเป็นพุทธบูชา...

สายนี้จะเรียกเทพเจ้า 9 องค์ว่า กิวอ๊วงฮุดโจ๊ว ถือว่าเป็นการกินเจสายบุญ ละเว้นชีวิตอื่น อาจเป็นที่มาของการใช้คำถือศีลกินเจ โดยคำนี้แปลว่าไม่มีคาวและอุโบสถที่หมายถึงการต้องถือศีลในขณะที่กินเจด้วย

ถัดมา...การกินเจสายที่ 2 เป็นการถือศีลกินผักของทางภาคใต้ที่มีคำเรียกเฉพาะว่า ถือศีลกินผัก ที่มาเกิดจากคณะงิ้วจีนมาแสดงที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต แล้วเกิดการไม่สบายล้มตาย ต้องหยุดการแสดง ทำให้คิดขึ้นได้ว่าลืมถือศีลกินผักไหว้ครูงิ้ว โดยครูงิ้วนี้จะเป็นเจ้าที่ชื่อว่า “ชั้งง่วงส่วย” หรือ “เถียนหยวนสื้อ” ในเสียงจีนกลาง

และจะเป็นการไหว้ให้ฮ่องเต้น้อยซ่งตวงจง บางตำราเรียกว่ากษัตริย์เป๊ง สิ้นพระชนม์วัย 9 พรรษาจากการถูกล้มราชวงศ์ซ่งโดยพวกมองโกล หลักฐานที่บอกว่าการไหว้ถือศีลกินผักเพื่อไหว้ครูงิ้วและฮ่องเต้น้อยคือ

การสร้างศาลเจ้ากะทู้ที่ภูเก็ตในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2368 และศาลเจ้ากู่ไช่ตึ๊ง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ พ.ศ.2410 คำว่า กู่ แปลว่า เก่า...ไฉ่ แปลว่า เก่า...ตึ๊ง แปลว่า แท่นบูชา โดยที่ จ.ตรังมีศาลเจ้ากิวอ๊องเอี่ย สร้างเมื่อ พ.ศ.2447 และที่ จ.ตรังจะมีศาลเจ้าท้ำกง สร้างเมื่อ พ.ศ.2428 โดยคนจีนแคะ ท้ำกงคือชื่อที่คนจีนเรียกฮ่องเต้น้อยซ่งตวงจง หลังสิ้นพระชนม์ คำว่าท้ำเป็นการประกอบกันขึ้นของอักษรจีน 3 ตัวที่รวมแล้วคือเสียชีวิตอายุน้อย

จิตรา ก่อนันทเกียรตินักสะสมความรู้เรื่องจีน
จิตรา ก่อนันทเกียรตินักสะสมความรู้เรื่องจีน

สายที่ 3 ประเมินกันว่าสร้างโดยพวกอั้งยี่ ที่มาสะสมกำลังไว้ที่ จ.ภูเก็ต เจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อและเทพเจ้า 9 องค์ถูกตั้งไว้ในห้องที่ประตูปิดตายตลอดเวลา เปิดปีละครั้งเฉพาะเทศกาลเจ แต่มีผ้าม่านสีเหลืองลายมังกรทองปิดทับไว้ ไม่มีใครเห็นภายในห้องได้อยู่ดี แต่ไม่ว่าจะสายใดก็ต้องตั้งโรงทานให้คนกินเจฟรี

...

แต่ละศาลเจ้าในปัจจุบันมีธรรมเนียมที่ทั้งเหมือนและต่างกัน แต่โดยหลักการจะเหมือนกันว่า...ต้องสร้างปริมณฑลพิธีให้มีพลังขลัง ทางใต้มีการปักธง 5 สีใน 5 ทิศ เชิญเจ้า 5 องค์ที่มีกองทหารผีมาประจำเพื่อคุ้มครองพิธี

ต้องยกเสาสูงแขวนตะเกียงบูชาเทพเจ้า 9 องค์ โดยเฉพาะทางใต้ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้แรงคนมากมาย ก่อเกิดความรู้สึกที่ยิ่งดูน่าศรัทธาแม้ว่าจะมีบางศาลเจ้าใน จ.พังงามีรถเครนมาช่วยยก ผู้คนก็ยังแห่กันมาร่วมงานมากมาย ทางภาคกลางที่เป็นสายมหายานไม่เน้นการตั้งเสาให้สูงสุดๆแบบทางใต้

ประมาณว่า...ทางใต้เน้นเสาตั้งตะเกียงต้องสูงสุดๆ อย่างที่ จ.ตรัง ถือเป็นงานต้องตัดให้ได้ต้นไผ่ที่สูงที่สุดของถิ่น แต่ไอเดียใหม่ต้องที่ศาลเจ้าแสงธรรมที่ภูเก็ต ให้คนมาทำบุญปิดทองที่เสาล่วงหน้า ได้เก็บเงินทำบุญก่อนศาลเจ้าอื่น...ศาลเจ้าเทศกาลกินเจที่เป๊ะจะทำพิธีรับเจ้า หรือเชิญไฟตั้งแต่หลัง 5 ทุ่มของคืนวันสิ้นเดือน 8 จีน

คือ...พอเข้าวันที่ 1 ของเดือน 9 จีนก็เริ่มเชิญเจ้าเข้าประทับ บางศาลเจ้าที่ภูเก็ตมีการไปทำพิธีเชิญไฟถึงริมทะเล พร้อมจุดประทัดเพื่อล้างสิ่งสกปรกไม่ให้แผ้วพาน แต่ศาลเจ้าภาคกลางจะแค่จุดธูปในศาลเจ้าโดยเจ้าพิธี ซึ่งแต่ละศาลเจ้าก็แล้วแต่ เช่น ศาลเจ้ากินเจของวัดเล่งเน่ยยี่ย่อมต้องใช้พระจีน

บางศาลเจ้าเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าที่เคยเห็นผู้ใหญ่ทำมาก็ทำตามที่เห็นในขณะที่ทางใต้เน้นใช้ร่างทรง

ถัดมา...ทุกวันต้องมีการทำพิธี ถ้าเป็นสายมหายานใช้พระจีนมาสวดมนต์ ถือเป็นช่วงเดินสายของพระจีนในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดรอบๆกรุงเทพฯที่ไม่มีพระจีนก็อาจเป็นเจอี๊ หรือทีมนักสวดที่ฝึกมา ในขณะที่ทางใต้เป็นสายฮกเกี้ยนจะใช้ระบบบิลต์พลังด้วยทีมร่างทรง แต่ทุกที่เน้นว่าวันที่ 3-6-9 เป็นวันสำคัญ

...

สุดท้าย...ศาลเจ้าที่เป็นงาน จะต้องมีพิธีกรรมให้คนกินเจได้ล้างเคราะห์ โดยภาคกลางนิยมลอยกระทงเจ ที่น่าสนใจคือการลอยกระทงเจของศาลเจ้าโจวซือกงตลาดน้อย กับศาลเจ้าเกียนอันเก็งตรงวัดกัลยาณมิตรย่านฝั่งธนบุรี จากการที่ทั้งสองศาลเจ้าอยู่ริมน้ำ ก็จะมีการไปไหว้ลงเรือลอยกระทงเจแล้วเยี่ยมเยียนกัน ซึ่งเป็นระบบคนไหว้ลอยคนละ 1 กระทง แต่ศาลเจ้าไต้ฮงกงเป็นกระทงใหญ่กระทงเดียว คนไหว้แห่กันขึ้นรถไปลอยที่สะพานพุทธ...

ส่วนทางใต้อย่างเช่นที่พังงา สร้างเรือลอยเคราะห์ให้คนมาไหว้ เขียนชื่อนามสกุลใส่ลงไปในเรือ ส่วนที่ภูเก็ตเป็นการทำรูปต่างตัว แล้วตัดเล็บตัดผมตัดเศษผ้าของเสื้อตัวใส่ไปกับรูปต่างตัวด้วย แล้วเดินข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ เมื่อเสร็จพิธี ร่างทรงต้องรวบรวมไปเผาที่ไกลที่สุด แล้วทิ้งเถ้าลงทะเล...

ป้องกันไม่ให้เคราะห์ไหลไปโดนบ้านใครหรือมีใครผ่านมาแล้วรับเคราะห์เหล่านี้ไป

ทั้งหมดเหล่านี้คือความพิถีพิถัน ที่จิตราพบมาเก็บเกี่ยวไว้เป็นประสบการณ์ ซึ่งทุกพิธีกรรมล้วนเพื่อเสริมดวงและเพื่อให้ศาลเจ้าได้ระดมทุนไว้ใช้ตลอดปี และทุกวันนี้ยังมีคนกินเจแบบเคร่งอยู่มากมาย มีคนอยากลองกินบ้างเผื่อได้เสริมดวงแล้วจะโชคดี ทุกปีก็เป็นแบบนี้แม้ว่าราคาผักและอาหารเจจะแพงขึ้น เพราะหนีไม่พ้นคำว่าบุญ

สำคัญคือ...อยากเสริมดวง ไม่อยากดวงตกตายเร็ว ฟาดเคราะห์หนัก ทุกศาลเจ้าเทศกาลกินเจจึงยังคงทำพิธีให้คนได้มาไหว้...เปิดโรงทานให้คนมากินเจฟรี เมื่ออิ่มอร่อยแล้วก็อย่าลืมทำบุญด้วยนะคะ.