นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่อนข้างสูงกว่าวัยอื่น นอกจากอาการด้านจิตใจ ไม่อยากทำอะไร ไม่ใส่ใจตนเอง รู้สึกตนเองไร้ค่าแล้ว อาจมีอาการทางกายด้วย แต่เมื่อไปพบแพทย์กลับไม่พบความผิดปกติใดๆ สำหรับวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่ การรักษาด้วยยา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะเห็นผลการรักษา ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาแก้โรคซึมเศร้าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้
การทำจิตบำบัดแบบประคับประคองด้านจิตใจ พฤติกรรมบำบัดเพื่อแก้ไขความคิดในด้านลบต่อตนเอง การรักษาทางด้านจิตใจ เช่น ให้คำปรึกษาและการรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยเฉพาะรายที่อาการหนัก ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่นๆ นอกจากนี้ ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุควรเข้าใจภาวะโรคซึมเศร้า ยินดีรับฟังเรื่องราวที่ผู้สูงอายุเล่าให้ฟัง มีความอดทนในการดูแลอย่างเพียงพอ เพราะผู้สูงอายุบางรายอาจมีลักษณะอารมณ์กลับมาเป็นเด็ก หรืออาจหงุดหงิด จึงควรพูดคุยด้วยท่าทีที่อ่อนโยน รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง.