นับจากต้นปีมาบ้านเราสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปมากมาย จากการผ่าพิสูจน์ซากพบมาจากสาเหตุเดียวกัน จากมีพลาสติกติดในท้อง...ล่าสุดพบไมโครพลาสติกตกค้างในปลาทู

สะท้อนให้เห็นปัญหาขยะมลพิษทางน้ำส่งผลกระทบทั้งในด้านจิตใจและแหล่งอาหาร จึงเป็นที่มาของ “มาเรียมโปรเจกต์” การสตัฟฟ์พะยูนน้อยมาเรียม เพื่อการอนุรักษ์ และการศึกษาพะยูนไทย ถูกชูให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ” ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี

“ไทยมีแม่น้ำลำคลองรวมกว่า 900 สาย เชื่อมต่อสู่ทะเลโดยตรง ทำให้การปล่อยน้ำเสีย การทิ้งขยะลงคูคลอง กลายเป็นปัญหาระดับชาติ นอกจากทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำ ส่งผลต่อการทำเกษตรกรรม อุปโภคบริโภคแล้ว ยังไหลลงสู่ทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้เกิดข่าวน่าสลดใจมาแล้วหลายครั้งหลายหน ปีนี้การจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น”

...

สุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกถึงการจัดงานเพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของแหล่งน้ำ รวมถึงทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่จัดขึ้นบริเวณวัดปลายนา ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี

วัดปลายนาเป็นศูนย์กลางของชุมชนเกษตรกรรม 3 ตำบล ปลายนา, ศรีประจันต์ และวังน้ำซับ เป็นตัวอย่างความร่วมแรงร่วมใจจัดการขยะและน้ำเสียในครัวเรือน ไม่มีการทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย สารเคมีจากการเกษตรลงในคูคลองแม้แต่น้อย

ส่งผลให้น้ำในคลองมีคุณภาพดี สามารถใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ ถือเป็นชุมชนต้นแบบของความร่วมมือในการดูแลรักษาลำน้ำ และเผยแพร่ให้เป็นแนวทางแก่ชุมชนอื่น อันจะสร้างจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของแม่น้ำ คู คลอง และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์น้ำภายใต้แนวคิดหลัก “คืนน้ำใสให้ฝูงปลา...คืนชีวาให้ชุมชน”

นอกจากภารกิจเร่งด่วน รณรงค์ให้มีการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น รวมไปถึงลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแล้ว ยังมีการส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพื่อนำวัสดุทดแทนมาผลิตเป็นถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ...ซึ่งในอนาคตจะมีแผนดำเนินการร่วมกับหลายภาคส่วนในหลายมิติ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะด้านการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งในการอุดหนุนภาคเกษตรกรรม

“ปีนี้เรายังใช้มาเรียมโปรเจกต์ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมกระตุ้นจิตสำนึก เพื่อต้องการรวบรวมแนวร่วมเครือข่ายให้เพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านๆมา มีเครือข่ายทั้งกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ เยาวชน และประชาชนทั่วไปแล้วทั่วประเทศกว่า 5,000 คน” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว.

กรวัฒน์ วีนิล