ลูกเกิดมามีร่างกายครบ 32 ประการ คือ สุดยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน ที่ต้องการเห็นลูกมีทั้งร่างกาย รวมถึงจิตใจ และความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเองให้เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

แต่ไม่ว่าเลือดเนื้อเชื้อไขที่ลืมตาออกมาดูโลกจะสมบูรณ์หรือไม่ ก็จะเห็นคนที่เป็นพ่อแม่ฟูมฟักลูกของตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเด็กพิเศษที่มีสภาพร่างกายและสติปัญญาแตกต่างไปจากเด็กปกติ

ซึ่งอาจรวมถึงเด็กปัญญาเลิศ เด็กบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาแตกต่างไปจากเด็กปกติ

ดังนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 จึงกำหนดให้ การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

และ โดยเฉพาะวรรคสอง ยังกำหนดให้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มี ผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้
บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดยให้จัดการศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ตั้งแต่แรกเกิด หรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579

...

“...ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการรายงานข้อมูลตัวเลขคนพิการที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบมีถึงร้อยละ 30 และที่ได้เข้ารับการศึกษาพบว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 40 จบแล้วไม่มีงานทำ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ และเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเข้ามาดูแลให้ครอบคลุมและเข้มข้นมากกว่านี้” คำสัมภาษณ์จากปาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ที่ได้เปิดเผยผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

สะท้อนให้เห็นชัดว่าหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้กับคนไทยทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเด็กพิเศษอย่าง กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องได้รับการปรับจูน และกำหนดกลยุทธ์การทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้กลุ่มเด็กพิเศษที่ต้องตกๆหล่นๆ หรือหลุดหายไปจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา

ที่สำคัญจะต้องเร่งเติมเต็มทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระของคนอื่น

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ฉายภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า สพฐ.ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กไทยทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษ ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างคุณภาพมนุษย์ สู่สังคมอนาคตที่ยั่งยืน” มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงให้สถาบันหลักของชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้เรียน พัฒนาบุคลากรเป็นมืออาชีพ จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ผ่าน 66 โครงการ เพื่อสร้างพื้นฐานนักเรียน 6,653,160 คน ให้ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพและเป็นพลเมืองดี

“...ส่วนการจัดการศึกษาพิเศษ เมื่อพบข้อเท็จจริงที่ว่า สพฐ.ยังไม่สามารถจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กพิเศษได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้ สศศ.ทำงานเชิงรุกในหลายโครงการ อาทิ การเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู การจัดทำแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ การพัฒนาวิชาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมโครงการต่างๆเหล่านี้ เชื่อว่าจะช่วยยกระดับการศึกษาพิเศษ เก็บตกเด็กที่ตกหล่น และสร้างทักษะอาชีพให้เด็กกลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวย้ำจุดเน้นในการขับเคลื่อนงานการศึกษาพิเศษไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ

...

ขณะที่ นางสุดา สุขอ่ำ ผอ.สศศ. ขยายความถึงการผลักดันงานของ สศศ. ว่า ภารกิจสำคัญของ สศศ.อย่างหนึ่ง คือการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กหลากหลายมิติ ทั้งตั้งรับในศูนย์ประจำจังหวัด หรือเขต และแบบเชิงรุก เข้าหาเด็กพิการทุกกลุ่มและทุกระดับในชุมชน จนไปถึงที่บ้าน โดยมีหน่วยบริการประจำอำเภอ เด็กพิการรุนแรง หรือติดเตียงอยู่กับบ้านและพิการซ้ำซ้อน จะมีหน่วยบริการ มีทีมสหวิชาชีพ นำรถโมบายยูนิตไปให้บริการจัดการเรียนการสอนฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการถึงที่บ้าน นอกจากนี้ สศศ.ยังส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนเรียนรวม โดยส่งบุคลากรเข้าไปร่วมจัดการศึกษาในโรงเรียนเรียนรวม แบบห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก รวมถึงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ห้องเรียนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเรียน ที่สำคัญยังมุ่งเน้นการสอนทักษะอาชีพอีกด้วย

จากยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. โดยเฉพาะงานการศึกษาพิเศษของ สศศ.ที่จะผลักดันสู่การปฏิบัตินี้ “ทีมการศึกษา” เห็นด้วยกับความมุ่งมั่นในการทำงานเชิงรุก

...

อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจ และหวังว่า ไม่ว่าเด็กปกติ หรือเด็กพิเศษจะได้รับการดูแล เพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง...!!!

ทีมการศึกษา