นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เผยหลังประชุมร่วมกับผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาว ถึงสาเหตุที่ทำให้ปลากะพงขาวของไทยมีราคาตกต่ำ เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าปลากะพงขาวจากประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น จากเดิมนำเข้ามาไตรมาสละ 500 ตัน เพิ่มเป็น 2,000 ตัน

เนื่องจากมาเลเซียมีการเลี้ยงปลากะพงเพิ่มมากขึ้น จากเดิมมีแค่ 500 บ่อ เพิ่มเป็น 2,000 บ่อ และด้วยคนมาเลเซียชอบบริโภคปลากะพงขนาดเล็ก หนักแค่ตัวละ 4-5 ขีด ปลาใหญ่เลยถูกส่งเข้ามาบ้านเรา มีรถบรรทุกห้องเย็นนำมาจำหน่ายตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นไปจนถึง จ.นครสวรรค์ ขายให้แพปลาก่อนกระจายให้ผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดในราคา กก.ละ 70 บาท ในขณะที่ราคา ปลากะพงขาวของไทยจำหน่ายราคาปากบ่ออยู่ที่ กก.ละ 80-85 บาท เท่ากับต้นทุนในการเลี้ยง เกษตรกรจะต้องขายในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 100 บาทถึงจะอยู่ได้

...

“การเปิดเสรีทางการค้า FTA ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดทะลักเข้ามาไทย โดยเฉพาะปลากะพงขาว ประกอบกับค่าเงินบาทแข็ง เป็นอีกปัจจัยทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างของค่าเงิน ประกอบกับผลผลิตปลากะพงขาวในบ้านเราเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว เลยทำให้เกิดภาวะปลากะพงล้นตลาด แต่อย่างไรก็ตาม กรมประมงจะได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องการนำเข้าปลากะพงของมาเลเซียมีลักษณะของการทุ่มตลาดหรือไม่ พร้อมกับเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนให้กินปลากะพงไทย คุณภาพดีได้มาตรฐาน GAP ไร้สารตกค้างและราคาถูก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงคุณภาพปลา กะพงขาวของไทยให้กับผู้บริโภคได้ทราบในปลายเดือนนี้เป็นต้นไป ที่ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร” อธิบดีกรมประมงกล่าว

นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย เผยว่า พวกเราไม่ต้องการให้รัฐบาลเอาเงินมาช่วยพยุงราคาปลากะพงขาวที่ขาดทุนไป กก.ละ 20 บาท แต่อยากให้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน ใครจะคิดว่าราคาปลากะพงจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้ ในชีวิตเคยเห็นครั้งเดียวเมื่อปี 2555 เพราะหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ราคาปลากะพงแพงขึ้นมาก ทุกฟาร์มเลยแห่ทำปลากะพงออกมาพร้อมๆกัน แต่วิกฤตินั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี ครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง และอนาคตไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร.