“ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นในจังหวัดชิบะ กลับมานำความรู้และประสบการณ์เรื่องตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ จะไม่ปลูกพืชผักแบบแห่ตามกระแส แต่จะศึกษาเก็บข้อมูลความต้องการตลาด กระทั่งมีการสั่งออเดอร์เข้ามาจึงจะเริ่มลงมือปลูก วิธีนี้ช่วยให้ไม่เสี่ยงขาดทุน ไม่ต้องขนผลผลิตทิ้งให้เน่าเสีย”

อำนาจ มอญพันธุ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านหนองผักแว่น ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี บอกว่า การปลูกพืชผักถ้ายึดตามกระแส จะมีอัตราเสี่ยงขายไม่ได้ทำให้ขาดทุน พืชทุกชนิดที่ปลูกจะทำสัญญาตกลงรับซื้อทั้งจำนวนและราคากันก่อน อย่างเพาะต้นอ่อนทานตะวันที่คิดจะทำขายเป็นรายได้เสริม แต่วันนี้กลับกลายเป็นรายได้หลัก ทำเงินได้มากถึงเดือนละ 30,000 บาท

...

“ช่วงปี 2555 คุยกับกลุ่มน้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ทำมาก่อน แรกๆไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จนไปเป็นวิทยากรบรรยาย และนำต้นอ่อนทานตะวันของน้องกลุ่มนี้ไปเสนอขายให้บริษัทที่เข้ามารับซื้อผักออร์แกนิกจากศูนย์ฯเป็นประจำ บริษัทสนใจสั่งซื้อสัปดาห์ละ 10 กก. และปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นสัปดาห์ละ 60 กก.”

การเพาะต้นอ่อนทานตะวันแต่ละรุ่นไม่ต้องรอเวลานาน เพียงแค่ 6–9 วัน สามารถตัดยอดอ่อนขาย ทำรายได้เข้ากระเป๋า

แต่การจะทำให้ได้ต้นอ่อนทานตะวันออร์แกนิกแท้ๆ...ถ้านำดินมาผสมกับขี้เถ้าแกลบทำเป็นวัสดุเพาะต้นอ่อน เสี่ยงดินมีสารตกค้าง มีเชื้อราแฝง หลังต้นอ่อนทานตะวันงอก 3-4 วัน จะเน่าตายหมดถาด หรือไม่บางรุ่นใกล้ตัดได้รุ่งเช้าเน่าทั้งถาดเคยเกิดขึ้นมาแล้ว...จึงคิดหาวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนดิน

“ปกติศูนย์ฯของเราจะเอาขี้เลื่อย ปูนขาว โดโลไมด์ เพอร์ไลต์ แป้งข้าวเหนียว ส่าเหล้า กระถินป่น ข้าวโพดบด มาทำเป็นวัสดุเพาะถุงก้อนเห็ดเห็ดฮังการี ออร์แกนิก หลังเก็บดอกเห็ดหมดต้องทิ้งก้อนเพาะเห็ด จึงทดลองนำมาทำเป็นวัสดุเพาะต้นอ่อนทานตะวันแทนดิน โดยใช้ก้อนเห็ดเก่า 1 ส่วน ผสมกับขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน

อำนาจ บอกว่า ต้นอ่อนทานตะวันที่ได้งอกงาม โตสม่ำเสมอลำต้นอวบ โตเร็ว ใบดำ ต้นอ่อนมีความกรอบ และเมื่อให้ทางศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำถุงก้อนเห็ดไปวิเคราะห์ พบว่า ถุงก้อนเห็ดยังมีความอุดมสมบูรณ์ของอินทรียวัตถุ 20%

เหมาะกับการนำไปผสมขี้เถ้าแกลบเพื่อใช้เพาะต้นอ่อนทั้งทานตะวัน ผักบุ้ง รวมทั้งโต้วเหมี่ยว.

เพ็ญพิชญา เตียว