เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บารา ในสหรัฐอเมริกา และสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เผยงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกะโหลกศีรษะสัตว์ในอันดับไพรเมตที่เก่าแก่ที่สุดและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งที่ได้จากเทือกเขาแอนดีสในชิลี ซึ่งระบุว่าเป็นฟอสซิลกะโหลกของไพรเมตกลุ่มแอนโธรพอยด์ (Anthropoid) อายุ 20 ล้านปี

ซากฟอสซิลกะโหลกเป็นของสายพันธุ์ Chilecebus carrascoensis มีขนาดจิ๋วและน้ำหนักเบา เป็นหนึ่งในแพลเทอร์รีน (platyrrhines) หรือลิงโลกใหม่ที่มีจมูกแหลม โดยเมื่อประมาณ 36 ล้านปีก่อนบรรพบุรุษของลิงชนิดนี้แยกตัวออกจากกลุ่มลิงโลกใหม่ เมื่อทำซีทีสแกนและสร้างสมองขึ้นใหม่แบบสามมิติเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบลักษณะเฉพาะของสมองที่หายไปนาน เช่น ขนาดของป่องรู้กลิ่น (olfactory bulb) และรูปร่างของช่องทางที่เชื่อมต่อกับกระดูกและเส้นประสาทตา นักวิจัยก็พบว่าความเป็นมาของแอนโธรพอยด์ที่ถูกยกให้เป็นสัตว์ในอันดับไพรเมตชั้นสูง อย่างลิงมีหาง ลิงไม่มีหางหรือวานร และมนุษย์นั้น มีความซับซ้อนกว่าในสมาชิกกลุ่มแรกๆบางกลุ่ม

นักวิจัยเชื่อว่า ซากฟอสซิลนี้จะช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการสมองของลิงโบราณ เพราะป่องรู้กลิ่นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ดังนั้น พวกมันอาจมีสัมผัสรับกลิ่นที่อ่อนแอ ทว่าไม่ได้สมดุลกับการมองเห็นที่ดี ซึ่งสิ่งนี้อาจบ่งชี้ว่าวิวัฒนาการของระบบการมองเห็นและการดมกลิ่นนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างที่นักวิจัยคิดไว้.