ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เผยว่า ปกติการผลิตน้ำยางพาราข้นที่ใช้ในปัจจุบัน จะมีส่วนผสมของแอมโมเนีย ซิงก์ออกไซด์ (ZnO) เตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ (TMTD) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางเกิดการบูดเน่า แต่สารเหล่านี้ล้วนแต่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้น้ำยางพาราข้นมีสมบัติไม่คงที่ โดยเฉพาะ TMTD ยังเป็นสารก่อมะเร็ง ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้พัฒนาน้ำยางพาราข้นชนิดใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่าพาราฟิต (ParaFIT) ที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมมาทดแทนการใช้สารเคมีดังกล่าว

“น้ำยางพาราฟิตที่เราผลิตมาได้นำมาทดลองใช้กับเครื่องจักรในโรงงานผลิตน้ำยางพาราข้นผลปรากฏว่า ผ่านการทดสอบสมบัติของน้ำยางตามข้อกำหนด มอก. 980-2552 และ ISO 2004-2017 ทำให้ได้น้ำยางข้นที่มีปริมาณแอมโมเนียต่ำแค่ 0.2% ต่างจากน้ำยางข้นทั่วไปที่จะมีปริมาณแอมโมเนียมากถึง 0.3-0.7% นอกจากนี้พาราฟิตยังมีคุณสมบัติช่วยให้ระยะเวลาการบ่มน้ำยางพาราข้นสั้นลง จากเดิม 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน เหลือแค่ 3 วัน เพราะไม่ต้องมีขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้น ก่อนนำไปผลิตหมอน หรือที่นอนยางพารา”

...

นายอนันต์ จันทร์รัตน์ ผจก.สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เผยว่า หลังจากได้นำน้ำยางพาราฟิตผลงานของเอ็มเทคมาทดลองใช้ในการผลิตและแปรรูปหมอนจากน้ำยางข้น 60% เมื่อปี 2560 ปรากฏว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดระยะเวลาการบ่มน้ำยางลงเหลือแค่ 3 วัน ช่วยให้สหกรณ์ลดเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อน้ำยางพาราสดได้ถึง 3-6 ล้านบาทในแต่ละรอบการซื้อขายปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 299 ครอบครัว นำน้ำยางพาราฟิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา ภายใต้แบรนด์ตะลุงลาเท็กซ์ มียอดจำหน่ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเพราะหมอนและที่นอนมีกลิ่นน้อยลง ส่งผลให้มีการทำสัญญาส่งหมอนไปจีน เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ใบ ขณะนี้มีออเดอร์แล้ว 50,000 ใบ ทั้งนี้สหกรณ์ฯรับน้ำยางวันละ 2 ตัน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ตันต่อวัน ทำให้สมาชิกสหกรณ์สามารถขายยางได้มากขึ้นในราคาดีขึ้น.