เอกพจน์
วิทยาลัยชุมชน "สืบสาน และต่อยอด" แหล่งเรียนรู้สู่ชุมชน
“แหล่งเรียนรู้สู่ชุมชน”
หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งเรื่องน้ำ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
สถาบันวิทยาลัยชุมชน (ส.วชช.) นำโดย ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภา ส.วชช. และกรรมการ ส.วชช.ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2562 จัดตั้ง “แหล่งเรียนรู้สู่ชุมชน” ขึ้นในวิทยาลัยชุมชน (วชช.) 16 แห่งทั่วประเทศ
แบ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพให้กับนักศึกษา ชุมชนและประชาชนทั่วไป สอดรับพันธกิจ วชช. ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชน
...
“ทีมการศึกษา” ได้มีโอกาสลงพื้นที่ติดตามการทำงานของ วชช.สระแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 แหล่งเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ พบว่าได้มีการน้อมนำแนวคิดโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรี ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ต้องการแก้ปัญหาพื้นที่ตามแนวสันเขาที่ถูกบุกรุกจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยพระราชทานแนวทางการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาจิตใจราษฎร การพัฒนาความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มาปรับใช้กับสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว
นายศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผอ.วชช.สระแก้ว ได้เล่าถึงการดำเนินงานตามแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้วได้มีอาชีพ และรายได้ วชช.สระแก้ว ได้จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ขึ้นในปี พ.ศ.2552
บนพื้นที่ขนาด 125 ไร่ เพื่อรวบรวม พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดให้กับนักศึกษาและประชาชน ปัจจุบันสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เป็นที่เรียนภาคปฏิบัติของนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา สาขาเกษตรอินทรีย์ ควบคู่กับการเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพ ตามนโยบายของ วชช.
“ภายในสถาบันฯจัดฐานการเรียนรู้ไว้ 5 ฐาน 1.ฐานสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ 2.ฐานสาธิตการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ 3.ฐานสาธิตการผลิตเห็ด 4.ฐานสาธิตปัจจัยการผลิตพืชและสัตว์ และ 5.ฐานสาธิตการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ ทั้งได้พัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของชาวบ้าน การใช้องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผลการศึกษาวิจัยและประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงของเกษตรกร ปัจจุบันมีหลักสูตรถึง 60 หลักสูตร นอกจากนี้ สถาบันฯยังได้จัดฝึกอาชีพชุมชน อาทิ การส่งเสริมอาชีพจากไหมอีรี่ ตั้งแต่การเลี้ยงหนอนไหม พัฒนาเส้นใย การใช้เครื่องมือ การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้า และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริม สบู่ ตลอดจนหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ส่วนการส่งเสริมอาชีพการทำเกษตรอินทรีย์ จะให้ความรู้กับเกษตรกรใน 3 ส่วน 1.ปัจจัยการผลิต การทำปุ๋ยหมัก เตรียมดิน การจัดการฟาร์ม 2.การปลูก การเก็บเกี่ยวและเก็บเมล็ดพันธุ์ และ 3.การทำการตลาดแบบอีคอมเมิร์ช...
...
เป้าหมายของสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว ไม่เพียงเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่ แต่ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพ การเกษตรมาตรฐานเชิงพาณิชย์ และการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชน” ผอ.วชช.สระแก้ว ฉายภาพการทำงานของสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
ขณะที่ นางวันดี โคตรนาม อายุ 52 ปี อาชีพเกษตรกร ซึ่งใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรมาเลี้ยงไหมอีรี่ เล่าว่า วชช.สระแก้ว ได้สนับสนุนการเลี้ยงไหมอีรี่แบบครบวงจร เลี้ยงง่าย ไม่เป็นโรค เหมาะกับเกษตรกรในจังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก เพราะหนอนไหมกินใบมันเป็นอาหาร แถมผลพลอยได้เมื่อตัดใบมันออก สารอาหารจะถูกนำไปเลี้ยงหัวมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวมันมีขนาดใหญ่ ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น ขายได้ราคางาม ขณะที่ขี้หนอนไหมยังนำไปเป็นปุ๋ยได้อีกทาง ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงอยากให้คนในพื้นที่หันมาเลี้ยงไหมอีรี่มากขึ้น
...
ด้าน นายเอกพจน์ เจริญวงษ์ อายุ 46 ปี อาชีพเกษตรกร บอกว่า เคยทำงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ รายรับไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน จึงกลับภูมิลำเนา จ.สระแก้ว ทำการเกษตร แต่ไม่มีความรู้มาก่อน ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี มีคนแนะนำให้เรียนรู้และทดลองทำการเกษตรอินทรีย์ที่สถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว ได้เรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนจากมูลสัตว์และเศษผักผลไม้ การสร้างโรงเรือนและเพาะเห็ด การเลี้ยงหนูนา ปลูกผักและสมุนไพรปลอดสารเคมี การแปรรูปกะลามะพร้าวอบสมุนไพรเป็นของที่ระลึก สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวมากขึ้น อนาคตตั้งใจจะทำการเกษตรอินทรีย์เต็มพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รู้สึกดีใจและ อยากให้ทุก วชช.ช่วยนำความรู้มาให้กับชาวบ้าน นอกจากช่วยพัฒนาอาชีพแล้ว ยังสร้างความสามัคคีให้ชุมชนด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ วชช.ที่ได้น้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มา “สืบสาน รักษา และต่อยอด”
เพื่อให้คนในชุมชนได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี และมีอนาคตที่ “มั่งคั่งและยั่งยืนแท้จริง”.
ทีมการศึกษา