“ภัยแล้ง”...ถือเป็นปัญหาซ้ำซาก แม้ในขณะนี้จะอยู่ในช่วง “ฤดูฝน” ก็ตาม แต่ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนอย่างมาก เพราะต้องขาดน้ำทำการเกษตร...ไว้ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังรอวันแก้ไขอย่างยั่งยืน
ปีนี้ “ภัยแล้ง”...ถือว่ารุนแรงมาก ประเทศไทยมีฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 144 และ 150 มิลลิเมตร ตามลำดับ
ขณะที่ “ต้นน้ำ” ของเขื่อนสำคัญก็มี “ฝน” ไม่มากพอ ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนน้อยมาก...
ช่วงที่ผ่านมา “เขื่อนภูมิพล” มีน้ำเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ส่วน “เขื่อนสิริกิติ์” เหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ส่วนน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา...คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้เพียง 1,560 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
การบริหารจัดการน้ำ จึงเป็นนโยบายลำดับต้นๆของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการทำทันที เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนและเกษตรกร การเพิ่มพื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การสร้างฝาย การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง”
ปัจจุบันภาคอีสานขณะนี้มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร นครพนม อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ เบื้องต้นได้ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำส่งเข้าสู่คลองชลประทานและจัดส่งรถบรรทุกน้ำไปให้ทุกพื้นที่
โดยเฉพาะ...พื้นที่ตอนกลางของภาคอีสาน น่าเป็นห่วงอย่างมาก ข้อมูลที่เป็นอยู่สะท้อนว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลักมีน้อยสุดในรอบ 30 ปี โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% 5 เขื่อน
...
ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ในการเดินสายตรวจเยี่ยม ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อาทิ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี จากทั้งหมด 34 โครงการ
กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2539 มีพื้นที่หนองประมาณ 6,196 ไร่ ความจุประมาณ 7.431 ล้าน ลบ.ม. แต่ด้วยสภาพปัจจุบันตื้นเขิน...ในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณรอบหนอง ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้
ผล...ทำให้ชาวบ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ 33,877 คน พื้นที่การเกษตรโดยรอบกว่า 40,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร
ตั้งแต่ปี 2543 กรมชลประทานจึงเริ่มดำเนินโครงการเพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตร สำหรับอุปโภค...บริโภค ช่วยกักเก็บน้ำจากลำน้ำชีเมื่อประสบปัญหาฤดูน้ำหลาก และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
พลิกแฟ้มแผนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อน (ระยะที่ 1)...4 ปี ระหว่างปี 2563-2566 รวมงบประมาณ 950 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก และการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ 40,000 ไร่
รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักจากเดิม 7.431 ล้าน ลบ.ม. เป็น 41.304 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะสามารถเพิ่มได้ถึง 100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณอยู่ที่ 20 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว
เชื่อมโยงต่อเนื่องติดตามสถานการณ์น้ำที่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี น่าสนใจว่าก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน...ขณะนี้มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าคาดการณ์ไว้
เมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 62 ซึ่งเริ่มต้นฤดูแล้งจะมีน้ำ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% ของความจุอ่าง คาดกันว่าจะไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำเพื่อการทำนาต่อเนื่อง
“...ได้กำชับกรมชลประทาน...กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ให้เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด่วนที่สุด” เฉลิมชัย ว่า
“...ได้สั่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ในช่วงเวลาที่เหลือกว่า 1 เดือน ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนกลาง ยังมีน้ำน้อย จึงต้องเพิ่มปริมาตรน้ำ”
ขณะที่กรมชลประทานก็ให้เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาจากแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ระดมสรรพกำลังให้หน่วยงานราชการเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ “เกษตรกร” หันมาเพาะปลูก “พืชใช้น้ำน้อย” ทดแทนการเพาะปลูกข้าว ...เน้นให้ทำงานเชิงรุก ใส่ใจราษฎรให้มากที่สุด
...
“บูรณาการการทำงานร่วมกัน ยึดหลักบำบัดทุกข์บำรุงสุข บรรเทาปัญหาให้ประชาชนเป็นหลักควบคู่ไปกับการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น”
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการและการวางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 กรณีสถานการณ์น้ำน้อยที่สุด จะมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ
หนึ่ง...การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคฤดูแล้ง สอง...การจัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศฤดูแล้ง สาม...การสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค...บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม สี่...การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และห้า...การจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง จึงมีนโยบายให้เร่งปฏิบัติการ “ฝนหลวง”...เติมน้ำสู่เขื่อน ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำประจำท้องถิ่น และแก้มลิงต่างๆ อีกทั้งพื้นที่ท้ายเขื่อนให้สร้างฝายชะลอน้ำ
...
เป้าหมายภายใน 1–2 ปีนี้ เพื่อที่จะสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มให้มากขึ้น
“ภัยแล้ง : การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่” สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เมษายน 2562) ระบุว่า ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี...ยากต่อการคาดการณ์ สาเหตุสำคัญมาจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ เมื่อบวกกับปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง...ฝนตกน้อยกว่าปกติ ไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็ยิ่งเกิดปัญหาสะสม พื้นที่ที่มีปัญหาทรัพยากร “น้ำ”...จำเป็นมากที่จะต้องได้รับการแก้ไขเชิงบูรณาการ
ที่สำคัญ ต้องวางแผนแก้ปัญหาทั้ง “ระยะสั้น”...“ระยะยาว” แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและในอนาคตเพื่อวางแผนบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างมั่นคงยั่งยืน เพียงพอ...“สู้ภัยแล้ง”.