ผ่านงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’

ด้วยวิกฤติที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรของประชากรโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาที่เกิดจากขยะต่างๆ ที่มีการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสัตว์ทะเล และสัตว์ป่า ที่กลายเป็นเหยื่อของขยะพลาสติก ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่สะสมมาเป็นเวลานาน และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้คนที่มองเห็นปัญหานี้ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างก็ร่วมมือกันขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือแนวทางในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดในการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วให้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (Make-Use-Return) และในปีนี้ SCG ก็ได้นำเสนอแนวคิด Circular Economy ให้กับสังคมในวงกว้าง ผ่านการจัดกิจกรรมในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ที่ได้ 45 พันธมิตรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งระดับประเทศและระดับโลก มาระดมสมองลุยแก้วิกฤติทรัพยากร และรณรงค์การ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะถึง 28 ล้านตัน ซึ่งหากเกิดการทิ้งไม่ถูกต้องหรือขาดการจัดการที่ดี ก็จะมีปัญหาขยะไหลสู่ทะเล จนเกิดการสูญเสียของสัตว์ต่างๆ ดังกรณีพะยูนมาเรียม

โดยที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้การดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.Reduce และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น 2.Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ 3.Reuse หรือ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่

โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทน 313,000 ตันของเสียต่อปี และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันของเสียต่อปี และในปี 2562 นี้ ยังคงเดินหน้าการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยได้ตั้งเป้าการลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2025 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นร้อยละ 100 ภายในปี 2025

ทั้งนี้ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาลด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แต่การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คือ กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ครั้งนี้ จึงมีพันธมิตรมากมายที่มาร่วมแสดงจุดยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีทั้งความร่วมมือของภาคธุรกิจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล ที่มีความร่วมมือทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ความร่วมมือเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่านการสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องขยะพลาสติก และความร่วมมือในการกำจัดการอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

นอกจากนี้ ทางผู้จัดงานยังได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อภาครัฐ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ผู้แทนจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) และผู้แทนจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่มาร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาถอดบทเรียนความสำเร็จจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ