เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์กลับคืนสู่ประเทศไทยหลังไปสำรวจแหล่งทำประมงในน่านน้ำประเทศติมอร์-เลสเต เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้า การทำประมง
สัตว์น้ำที่พบมากที่สุดคือ...หอยนอติลุส
หรือที่บ้านเราเรียกว่า หอยงวงช้าง เป็นมอลลัสคาที่มีวิวัฒนาการค่อนข้างสูง เป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้วกว่า 350 ล้านปี จัดอยู่ในชั้นเซฟาโลพอด ชั้นเดียวกับหมึก เป็นนอติลอยด์เพียงกลุ่มเดียวที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตจำพวกหนึ่ง
ลักษณะเหมือนหมึกผสมกับหอยฝาเดี่ยว ตาไม่มีคอร์เนียและเลนส์ เป็นแอ่งบุ๋มจากลำตัวเข้ามา มีหนวดที่มากถึง 63-94 เส้น มีเปลือกหุ้มอยู่ภายนอกขดเป็นวง มีผนังกั้นภายในตามขวาง แบ่งเป็นช่องอยู่ด้านในคล้ายห้อง ช่องนอกสุดที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นช่องที่ตัวหอยอาศัยอยู่ อากาศที่อยู่ในช่องของเปลือกทำให้หอยงวงช้างลอยตัวได้ เมื่อจะดำน้ำลงหอยจะปล่อยอากาศที่อยู่ในช่องเหล่านี้ออกมา แล้วให้น้ำเข้ามาแทนที่ทำให้ตัวหนักและจมลงได้
เป็นต้นแบบให้กับการสร้าง “ถังอับเฉาในเรือดำน้ำ”
ชอบหากินในเวลากลางคืน กลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ลึก 400-600 ม. และดำน้ำลึกถึง 3 กม. จะว่ายน้ำโดยการพ่นน้ำออกไปทางท่อไซฟอน เช่นเดียวกับหมึก ว่ายน้ำไปอย่างช้าๆเพราะมีเปลือก และเป็นการว่ายถอยหลัง แต่มีประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่เหมือนเซ็นเซอร์ รับการสัมผัสและรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ
อาหารที่ชอบกิน ได้แก่ ปลาและกุ้ง การสืบพันธุ์ตัวผู้จับถุงสเปิร์มส่งเข้าไปในช่องลำตัวของตัวเมีย ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะฟักเป็นตัวโดยตรง และไม่มีระยะตัวอ่อน
บ้านเราในทะเลอันดามันพบไม่มากนัก...ส่วนอ่าวไทย ไม่เคยพบเลย.