เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการประกอบพิธีประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล และเปิด พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล ณ ที่สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขตจตุจักร ถนนวิภาวดีรังสิต โดยในงานนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการในฐานะ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นผู้ประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล รวมทั้ง นายชิเกรุ อาโอยากิ ผอ.สำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพมหานคร ได้เป็นผู้กล่าวประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล ด้วย ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์และเป็นความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติที่สำคัญในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

ประวัติของ นายกำพล วัชรพล หรือที่คนทั่วไปมักจะเรียกกันจนติดปากว่า ป๊ะกำพล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2462 ที่ริมคลองภาษีเจริญ เขตกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เริ่มต้นการทำงานจากเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารเรือเมล์ปล่องเขียว วิ่งระหว่างประตูน้ำอ่างทองถึงประตูน้ำภาษีเจริญ ต่อมาสอบได้เข้าเป็นนายท้ายเรือ จนกระทั่งในปี 2483 เข้ารับราชการทหารเรือ ศึกษาที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ บรรจุเข้าประจำการเรือหลวงสีชัง นอกจากนี้ยังเคยเข้าร่วมรบในราชการสงครามใหญ่ 2 ครั้งคือ สงครามอินโดจีน และ สงครามมหาเอเชียบูรพา ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และเลื่อนยศเป็นจ่าโท ก่อนที่จะลาออกจากราชการในปี 2489

เริ่มต้นงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อปี 2490 ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์หลักไทย ต่อมาได้ออกหนังสือพิเศษชื่อ นรกใต้ดินไทย โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,000 บาทจากทุนส่วนตัว ได้กำไรมาจำนวนหนึ่งมีเงินเหลือมาออกหนังสือรายสัปดาห์ใช้ชื่อว่า ข่าวภาพเป็นที่มาของโลโก้ รูปกล้องถ่ายภาพ สายฟ้าและฟันเฟืองซ้อนอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในปัจจุบัน

การก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่อง นายกำพล วัชรพล อดีต ผอ.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและผู้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบทจำนวน 111 แห่ง เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชนระหว่างปี 2561-2562

เพื่อให้ชีวิตและผลงานของ นายกำพล วัชรพล เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความมุ่งมั่น พากเพียรไปสู่การบรรลุเป้าหมาย พร้อมอุทิศตนสร้างประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

เพื่อแสดงให้เห็นถึง พัฒนาการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สะท้อนเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนนิสิต นักศึกษาและคนทั่วไป

สุดท้ายเพื่อสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและครอบครัววัชรพล ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

หมัดเหล็ก