“Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาสักระยะ แต่ก็ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออิทธิพลของสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลกำลังขยายวงกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าข่าวจริงหรือข่าวปลอม
ที่ประเทศไทย แม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คนใหม่ ได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน ให้มีการจัดตั้งศูนย์ปราบข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เนื่องจากเห็นว่า “ข่าวปลอม” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง สร้างความตื่นตระหนก ตกใจ ปั่นป่วน ในบางกรณีสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าประจำการไม่เท่าไร ก็มีข่าวปลอมปล่อยออกมาเขย่าความเชื่อมั่น ตั้งแต่ข่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นข่าวเก่าเมื่อปี 2556 ที่ถูกนำกลับมาเล่าใหม่ หรือข่าวนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าเศรษฐกิจกำลังทรุดหนัก ซึ่งเป็นข่าวปลอม 100% เป็นต้น
ศูนย์ปราบ Fake News จึงถูกถือกำเนิดขึ้นทันที เกือบจะพร้อมๆกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย มีทั้งระบบรับแจ้งข่าวจากประชาชนและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชี้แจงข่าวที่ถูกต้องให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ด้วยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยค้นหาต้นตอของข่าวปลอม ภายใต้บทลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามไล่ล่าข่าวปลอม ก็ได้พยายามทำงานอย่างเข้มข้น เพียงแต่ข่าวปลอมนั้นมีมากขึ้นทุกวัน เป็นไปตามยุคสมัยที่ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนอันอย่างแพร่หลาย มีการใช้สื่อออนไลน์สูงข่าวสารจึงกระจายได้อย่างรวดเร็วมาก
ปอท.ทำงานโดยการสืบหาผู้กระทำความผิดทั้งทางลับและทางแจ้ง ผ่านความร่วมมือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (ค่ายมือถือ) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
โดยสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ กรณีข่าวจริงแต่ได้รับแจ้งว่าเป็นข่าวปลอม ยกตัวอย่างเช่น ข่าวเกิดสึนามิ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง ถ้าเป็นข่าวจริงแล้วถูกแจ้งว่าเป็นข่าวไม่จริงแบบในอดีต จะนำไปสู่ความสูญเสียที่เกินกว่าจะประเมินความเสียหายได้
ต่อกรณีดังกล่าว นายพุทธิพงษ์ อธิบายว่า ในอดีตแม้จะมีข่าวปลอมอยู่บ้างแต่กระจายไม่รวดเร็ว ประกอบกับนักข่าวซึ่งทำหน้าที่สื่อมวลชนในอดีต เป็นวิชาชีพที่มีจริยธรรมกำหนดไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบัน ใครๆก็เป็นสื่อได้ และเป็นสื่อออนไลน์ที่กระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนที่สร้าง “ข่าวปลอม” เหล่านั้น ไม่มีจริยธรรม ไม่มีวิชาชีพ หากไม่เร่งปราบปรามจะยิ่งสร้างปัญหาในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“ผมขอย้ำว่าการตั้งศูนย์ปราบข่าวปลอม ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อรังแกหรือปกป้องใคร แต่ทำเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรวดเร็ว”
โดยขณะนี้ หลายประเทศได้เริ่มรับมือกับข่าวปลอม และออกกฎหมายลงโทษบุคคลที่สร้างและเผยแพร่ข่าวปลอมแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ มีบทลงโทษบุคคลที่สร้างหรือเผยแพร่ข่าวลวง ปรับตั้งแต่ 100,000–5 ล้านเปโซ และอาจถูกลงโทษจำคุก 1–5 ปี หรือทั้งจำและปรับ
ขณะที่มาเลเซีย รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวลวง กำหนดลงโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และปรับ 500,000 ริงกิต ส่วนอินเดียประกาศว่าจะออกกฎหมายควบคุมข่าวลวง ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตของนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวลวงแบบชั่วคราวหรือถาวร ด้านสิงคโปร์เตรียมออกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม กำหนดให้สื่อออนไลน์ต้องแก้ไขหรือลบเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเท็จ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือปรับ 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ส่วนที่ฟินแลนด์ เน้นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สร้างความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ให้ประชาชนแยกแยะข่าวจริง ข่าวลวง และไต้หวัน สร้างระบบการมีส่วนร่วมให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์, เฟซบุ๊ก, กูเกิล เป็นต้น
แต่ละประเทศมีวิธีจัดการกับ “ข่าวปลอม–ข่าวลวง” ที่แตกต่างกัน บางประเทศใช้ไม้แข็งออกกฎหมายลงโทษรุนแรง บางประเทศเน้นใช้กลไกบริหารจัดการกับข้อความที่แสดงความมุ่งร้าย ควบคุมเฉพาะบางช่วงเวลา และรวมถึงเลือกติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชน ให้มีภูมิคุ้มกัน แยกแยะ “ข่าวจริง” กับ “ข่าวปลอม” ให้ออก.
ดวงพร อุดมทิพย์