รมว.คมยาคม สั่ง "กรมทางหลวง-ทางหลวงชนบท" ยกเลิกสร้างเกาะกลางถนนทางหลวงทั่วประเทศ เริ่มบังคับใช้งบประมาณปี 63 ให้หันมาใช้แบริเออร์ที่ทำจากยางพาราแทน มั่นใจลดงบประมาณประเทศ-สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.62 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจบริเวณจุดกลับรถ บนทางหลวง จ.บุรีรัมย์-สุรินทร์ ว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่า บริเวณจุดกลับรถในถนนทางหลวง ที่มีช่องทางจราจร 4 เลน จะมีเกาะกลางถนน ซึ่งส่วนหนึ่งของเกาะกลางถนนตามทางหลวงนั้น จะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจำนวนมาก รวมถึงเมื่อก่อสร้างเกาะกลางถนนแล้ว ทางกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะมีต้องมีการจัดงบประมาณที่จะเข้ามาบำรุงรักษาอีกจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้ ทล.และ ทช.ไปรวมรวบโครงการก่อสร้างที่อยู่ในปีงบประมาณ 63 ที่จะต้องก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร และเกาะกลางถนนทั่วประเทศ ว่า มีระยะทางเท่าไหร่ และให้ยกเลิกการสร้างเกาะกลางถนนปรับเปลี่ยนมาเป็น ให้มีการนำแบริเออร์ที่ผลิตจากยางพารา เข้ามาวางกั้นเลนระหว่างถนนแทน ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยลดงบประมาณในการก่อวสร้างถนน และบำรุงรักษาถนนทั่วประเทศลง ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมจะได้ช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถขายยางได้ราคามากขึ้น โดยให้ทางหลวงและทางหลวงชนบท สรุปรายละเอียดกลับมาเสนอตนภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้นโยบายที่จะให้นำแบริเออร์ที่ทำจากยางพารา มาเป็นตัวกั้นระหว่างถนนแทน เกาะกลางถนนนั้นจะต้องสามารถรองรับการใช้ความเร็วของรถที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่เคยมีการศึกษาว่า สามารถรองรับความเร็วของรถได้เพียง 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เพื่อไม่ให้เหมือนกับแบริเออร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุและไม่ทำให้ถนนเสียหาย รวมทั้งสามารถนำงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างเกาะกลางถนน ไปใช้ขยายถนน 4 เลนเพิ่มเติมให้ชาวบ้านได้ด้วย ในเส้นทางอื่นๆเพิ่มเติม พราะในปัจจุบันยังมีเส้นทางถนนทางหลวง และทางหลวงชนบท ยังมีอีกหลายช่วงเส้นทางของประเทศ ที่ยังมีความต้องการที่จะต้องขยายช่องจราจรเพิ่มเติม

...

นอกจากนั้นเพื่อให้การนำยางพารามาทำแบริเออร์ มาใช้ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความเป็นไปได้มากขึ้น ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม โดยมีตนเป็นประธาน ร่วมด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน

"การยกเลิกก่อสร้างเกาะกลางถนนนั้น จะให้นำร่องที่ จ.บุรีรัมย์ โมเดลเป็นต้นแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการยกเลิกสร้างเกาะกลางถนน จะเริ่มในปีงบประมาร 63 นี้เลย โดยมั่นใจว่าจะช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้งของภาครัฐลง ขณะเดียวกันได้ช่วยเหลือราคายางให้ชาวสวนยางที่ประสบกับราคายางตกต่ำ นอกจากนั้นยังช่วยให้คนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีถนน 4 เลน และมีเกาะกลางถนน ลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงลง เนื่องจากในปัจจุบันเวลาจะต้องยูเทิร์น จะต้องใช้ระยะทาง 2-4 กม.เพื่อยูเทิร์นหมดไป หรือหากมีเหตุก็สามารถข้ามไปอีกฝั่งถนนได้ง่ายขึ้น" ศักดิ์สยาม กล่าว