19 สิงหาคม 2562

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มาในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล และ เปิดพิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล ณ สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และ นายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล

พิพิธภัณฑ์ นี้จัดตั้งโดยมีแนวคิดหลักคือ กำพล วัชรพล นักสู้สามัญชน...คนของโลก โดยมีประวัติชีวิตตั้งแต่เกิดจนยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก พัฒนาการของหนังสือพิมพ์ไทย และวิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือพิมพ์ในประเทศไทย

แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 โซน

โซนที่ 1 คือ Museum Hall จัดแสดงภาพ นายกำพล วัชรพล และบทประพันธ์กล่าวสดุดี นายกำพล ประพันธ์โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ

กำ พล กำหนดรู้          กำลัง ใจแล
พล พิริยะยงยัง            ประโยชน์ให้
วัชร จรัสจิระประดัง       ประดับโลก
พล สถิตไทยรัฐไท้        พิทักษ์พื้นภูมิสยามฯ

โซนที่ 2 นักสู้สามัญชน...คนของโลก แสดงเหตุการณ์สำคัญที่องค์การยูเนสโก ประกาศเกียรติคุณยกย่องให้ นายกำพล วัชรพล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ประจำปี 2561-2562 ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล นายกำพล วัชรพล วันที่ 27 ธันวาคม 2562 ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และข้อความที่แสดงถึงปณิธานอันแรงกล้าของ นายกำพล วัชรพล ที่ต้องการช่วยเหลือเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษา โดยจัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ด้วยข้อความที่ระบุว่า

“ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้ จึงอยากสนับสนุนการศึกษาช่วยให้เด็กยากจนได้มีโอกาส”

พร้อมกันนี้ยังได้จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ และภาพถ่าย คนไทยที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวม 28 พระองค์/รูป/คน รวมทั้ง นายกำพล วัชรพล

โซนที่ 3 ชีวิตบนถนนน้ำหมึก จัดแสดงตำนานนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสื่อสารมวลชนไทย นายกำพล วัชรพล โดยจัดแสดงโต๊ะทำงาน เครื่องพิมพ์ดีด OLYMPIA โทรศัพท์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของนักข่าวในยุคนั้น รวมทั้งตะกร้อซึ่งเป็นกีฬาและชุดกีฬาโปรดของ นายกำพล ที่มักจะเล่นออกกำลังกายกับพนักงานไทยรัฐอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ยังมีชุดนายทหารเรือ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ นายกำพล มีความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ประเทศชาติ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ ใกล้กันนั้นยังมี บทเพลง นกขมิ้น ซึ่งเป็นเพลงโปรด ที่สะท้อนถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กของ นายกำพล ได้อย่างชัดเจน โดยในจุดนี้ ผู้สนใจอยากฟังเพลงนกขมิ้นก็สามารถหยิบหูฟังขึ้นมาฟังเพลงนกขมิ้นได้ด้วย

ถัดมาจะเป็นการแสดงถึงการบุกเบิกสร้างสรรค์หนังสือพิมพ์ของ นายกำพล ตั้งแต่ยุคแรก ที่เป็นหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” พ.ศ.2493-2501, ยุคสอง “เสียงอ่างทอง” พ.ศ.2502-2505, ยุคสาม ช่วงแจ้งเกิดไทยรัฐ ซอยวรพงษ์ พ.ศ.2505-2513, ยุคสี่ ไทยรัฐ วิภาวดี พ.ศ.2513-2531 เป็นการก้าวเข้าสู่ผู้นำในวงการน้ำหมึก, ยุคห้า ไทยรัฐ วิภาวดี พ.ศ.2531-2544 ซึ่งเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยยอด 1 ล้านฉบับต่อวัน, ยุคหก สู่ทศวรรษที่ 7 ไทยรัฐเข้าสู่สื่อยุคใหม่ ที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม รู้ลึก รู้จริง ผ่านสื่อทุกช่องทาง เข้าถึงคนไทย ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งรูปแบบหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ไทยรัฐทีวี และแอปพลิเคชัน

ในโซนนี้ ยังจัดแสดงวิวัฒนาการการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ เช่น แท่นหวีหรือแท่นนอน หรือ แท่นฉับแกระ ซึ่งไทยรัฐใช้เครื่องพิมพ์นี้ระหว่างปี 2495-2505 นอกจากนี้ยังมีโต๊ะปรู๊ฟ ใช้สำหรับตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนของหน้าหนังสือพิมพ์ก่อนนำไปขึ้นแท่นพิมพ์ โดยใช้คู่กับเครื่องพิมพ์ฉับแกระ นอกจากนี้ยังมีโต๊ะเรียงตะกั่ว และตัวตะกั่ว ที่เป็นพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ สำหรับช่างเรียงพิมพ์นำมาประกอบเป็นคำและข้อความ, กล้องถ่ายภาพทางการพิมพ์แนวนอน, กล้องย่อขยายภาพ, เครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสง, เครื่องล้างฟิล์ม, เครื่องสแกนเพลท, เครื่องส่งภาพวิถีไกล, เครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรกสำหรับทำพาดหัวข่าว ทั้งยังมีภาพถ่ายที่แสดงถึงการทำงานของกองบรรณาธิการในสมัยต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายกำพล วัชรพล ทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับพิเศษ หน้าปกภาพหาชมยาก อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รวมทั้งหนังสือ-พิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ 100 วัน น้อมอาลัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โซนที่ 4 “หนังสือพิมพ์เพื่อการศึกษา” จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคาร โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๑ เฉลิมพระเกียรติ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยม โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐ (บ้านใหม่) จ.นราธิวาส

โดยโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนายกำพล วัชรพล ในการให้การศึกษาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งจัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรก ที่ จ.ลพบุรี ใน พ.ศ.2512 จนครบ 111 แห่งในปี 2562 ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ นายกำพล วัชรพล รวมทั้งจัดแสดงผลงานนักเรียน คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง, หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา เป็นต้น

โซนที่ 5 “เราอยู่ด้วยศรัทธาประชาชน” จัดแสดงถึงทายาทรุ่นต่อมา และคนไทยรัฐที่ยังคงสืบสานปณิธาน ต่อยอดความคิดของ นายกำพล วัชรพล ไว้อย่างมั่นคง ด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบ พร้อมตอบแทนสังคม อยู่เคียงข้างพี่น้องคนไทย ดังคำกล่าวของ นายกำพล วัชรพล ที่ว่า

“หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะตอบแทนประชาชน”

นอกจากนี้ยังจัดแสดงรางวัลต่างๆที่ไทยรัฐได้รับ อาทิ รางวัลเหรียญบรอนซ์ด้านนวัตกรรมทางการพิมพ์ ในการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ประจำปี 2560 จากผลงานการผลิต “หนังสือพิมพ์พูดได้” ฉบับพิเศษ 100 วัน “น้อมอาลัยในหลวงภูมิพล”, รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของคนไทยรัฐ แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของสังคมไทย และสื่อมวลชนไทยด้วย.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "100 ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล"