เรียนรู้วิวัฒนาการการพิมพ์ของประเทศไทย และแบบอย่างหลักคิด นายกำพล วัชรพล ผู้ที่มีความมุ่งมั่น พากเพียร อุทิศตนสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ใน "พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” เฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก และ 100 ปี ชาตกาล นายกำพล วัชรพล
นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบททั่วประเทศไทย นับเป็นสามัญชนไทยลำดับที่ 28 และเป็นคนไทยและคนเอเชียเพียงคนเดียว ที่ยูเนสโกประกาศยกย่องในการประชุมใหญ่สมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ของยูเนสโก ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ผู้มีบทบาทด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ระหว่างปี พ.ศ 2561-2562
การได้รับยกย่องจากองค์กรโลกอย่างยูเนสโก ถือเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งสำหรับ ประเทศไทย และคนไทย รวมถึงชาวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพราะแต่ละบุคคลสำคัญของโลก กว่าจะได้รับการเสนอชื่อและเห็นชอบจากคณะกรรมการยูเนสโก ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มงวด กว่าจะไปถึงยังคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาลงมติเห็นชอบ
เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องนายกำพล วัชรพล และ 100 ปี ชาตกาล นายกำพล วัชรพล ที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 และในวันที่ 19 ส.ค. 62 นับเป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานเปิดในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล และเปิด “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” เพื่อให้ชีวิตและผลงานของนายกำพล วัชรพล เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความมุ่งมั่น พากเพียร และอุทิศตนสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติในฐานะสื่อ
นอกจากนี้ “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” ยังถือเป็น แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการพิมพ์ของประเทศไทยและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ควบคู่กับการสะท้อนเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดว่า 6 ทศวรรษแห่งการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่เริ่มตั้งแต่การเรียงด้วยมือ เรียงด้วยแสง และคอมพิวเตอร์
ภายใน “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส นสพ.ไทยรัฐ และกรรมการมูลนิธิไทยรัฐมากว่า 40 ปี เปิดเผยว่า แบ่งเป็น 5 โซน ดังนี้
โซน 1 Museum Hall พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล จัดแสดงภาพ และบทประพันธ์กล่าวสดุดี กำพล วัชรพล โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
โซน 2 “นักสู้สามัญชน ... คนของโลก” จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญที่องค์การยูเนสโกประกาศเกียรติคุณยกย่องให้ กำพล วัชรพล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชนประจำปีพ.ศ. 2561-2562
โซน 3 ชีวิตบนถนนน้ำหมึก จัดแสดงตำนาน กำพล วัชรพล นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสื่อมวลชนไทยในการบุกเบิกสร้างสรรค์หนังสือพิมพ์ เพื่อให้เข้าถึงคนอ่านทุกระดับ จากยุคแรกที่เป็นหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” (พ.ศ. 2493-2501) “เสียงอ่างทอง” (พ.ศ. 2502-2505) สู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งจัดแสดงพัฒนาการเทคโนโลยีการพิมพ์ของไทยรัฐ ในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งไทยรัฐยุคใหม่ ที่ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ด้วยนวัตกรรมสื่อรูปแบบต่างๆ
โซน 4 “หนังสือพิมพ์เพื่อการศึกษา” จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกำพล วัชรพล ในการให้การศึกษาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อสร้างคนดีและคนเก่งออกไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ เริ่มต้นที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 จ.ลพบุรี ในปีพ.ศ. 2512 และจะมีจำนวน 111 แห่ง เมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2562
โซน 5 “เราอยู่ด้วยศรัทธาประชาชน” ทายาทรุ่นต่อมา และคนไทยรัฐยังคงสืบสานปณิธาน ต่อยอดความคิดของ กำพล วัชรพล ไว้อย่างมั่นคง ด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบ พร้อมตอบแทนสังคม อยู่เคียงข้างพี่น้องคนไทย ดังคำกล่าวของ กำพล วัชรพล ที่ว่า “หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะตอบแทนประชาชน”
"พิพิธภัณฑ์ มีส่วนใหญ่ๆ สำคัญ 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นประวัติชีวิต ผอ.กำพล อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวประวัติของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกส่วนหนึ่งเป็นวิวัฒนาการการพิมพ์ของเมืองไทย ที่เริ่มตั้งแต่การเรียงด้วยมือ เรียงด้วยแสง เรียงด้วยคอมพิวเตอร์ และวิวัฒนาการพิมพ์ระบบสับเฟล็ก มาเป็นพิมพ์ระบบโรตารี่ มาเป็นเว็บออฟเซ็ต แล้วส่วนสุดท้ายเป็นประวัติโรงเรียนไทยรัฐวิทยา" นายมานิจกล่าว