สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประเด็นอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ เกี่ยวกับการขอรับเงินบริจาคของดารา นักแสดง เน็ตไอดอล หรือผู้ที่มีชื่อเสียง เพื่อนำไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หรือนำไปรักษาอาการเจ็บป่วย หรือนำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงขอรับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือสุนัขหรือแมว เป็นต้น ซึ่งในการขอรับบริจาคหรือเรี่ยไรนั้น มีกฎหมายควบคุมมานานแล้ว แต่น้อยคนที่จะทราบขั้นตอนในการขออนุญาตทำการเรี่ยไร และปัจจุบันมีการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การเรี่ยไร” หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย

การขออนุญาตทำการเรี่ยไร ในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจะต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร และสถานที่ทำการเรี่ยไร ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเดินไปขอเรี่ยไรตามหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ นอกเหนือจากที่ขออนุญาตไว้ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไรและระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน

ผู้ที่ขออนุญาตจะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ และไม่เคยต้องโทษฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487

...

ในการขออนุญาตทำการเรี่ยไร หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตได้ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือต่างจังหวัดติดต่อที่ที่ว่าการอำเภอ ทุกจังหวัด

สิ่งสำคัญผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องพกใบอนุญาตติดตัวตลอดเวลา เพื่อง่ายแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงห้ามใช้ถ้อยคำบังคับขู่เข็ญผู้ที่ถูกเรี่ยไร ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือเกรงกลัว ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร หากฝ่าฝืนมาตรา 16 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม การขอรับบริจาคนั้น หากมีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน ก็จะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี รวมไปถึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท สุดท้ายอาจจะถูกตรวจสอบทรัพย์สิน เนื่องจากความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนนั้น เป็นความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งอาจจะมีความผิดแยกอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK