เขื่อนลำปลายมาศวิกฤติระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 30 ปี “วราวุธ” เร่งฟื้นฟูพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ส่วนรัฐบาลจีนช่วยภัยแล้งปล่อยน้ำโขงมากขึ้น ส่วนที่เมืองชลพายุถล่มต้นไม้ล้มขวางถนน ตลาดโต้รุ่งข้าวของกระจุยกระจาย ขณะที่ กรมอุตุฯแจ้งเตือนผลพวงพายุโซนร้อน “วิภา” 19 จังหวัดเตรียมรับมือ สทนช.เผยอิทธิพลพายุเกิดฝนตก ส่งผลดีน้ำเข้าเขื่อน
สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำปลายมาศ ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำดิบเหลืออยู่ภายในเขื่อน 26.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุทั้งหมดที่ 98 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุ แต่ปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือเพียงแค่ 17.2 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุ ถือเป็นปริมาณน้ำต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เห็นเนินดินใต้น้ำและตอไม้โผล่ ขณะนี้จำเป็นต้องส่งน้ำทั้งระบบเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และการเกษตรวันละกว่า 3 แสน ลบ.ม. เนื่องจากสภาพพื้นที่ในเขตชลประทานท้ายเขื่อนในพื้นที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ ประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงและต้องการน้ำอย่างมาก
นายสุภัทรชัย สนหอม หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปลายมาศ กล่าวว่า ในปีนี้ฝนตกลงมาในพื้นที่ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ ล่าสุดมีปริมาณฝนตกอยู่ที่ประมาณ 300 มิลลิเมตร จากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 1,100 มิลลิเมตรต่อปี เขื่อนต้องรับภาระปล่อยน้ำให้กับพื้นที่เรื่อยมา ประกอบกับเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้น้ำภายในเขื่อนเหลืออยู่น้อยกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา หรือน้อยที่สุดตั้งแต่ที่ได้ทำการก่อสร้างเขื่อนมาตั้งแต่ปี 2529 อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อแผนการส่งน้ำในปีนี้ และยืนยันว่าจะมีน้ำเพียงพอให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขตชลประทานกว่า 57,000 ไร่อย่างแน่นอน
...
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาภัยแล้ง ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานที่ดูแลคือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะพิจารณาถึงจุดที่สามารถขุดเจาะน้ำบาดาลได้ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือมีบางจุดที่สามารถเจาะน้ำบาดาลและใช้โซลาร์เซลล์ดึงน้ำมาใช้แก้ปัญหาให้ประชาชนถึง 100-200 ไร่ ส่วนพื้นที่ 13 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง สั่งให้กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเร่งดูแลพื้นที่ต้นน้ำและแหล่งที่มาของน้ำ โดยเฉพาะการดูแลผืนป่าที่เป็นต้นกำเนิดน้ำ เชื่อว่าหัวใจสำคัญคือการฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อให้ผลิตน้ำส่งต่อไปยังพื้นที่ปลายน้ำได้
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน แถลงร่วมถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-จีน และผลการหารือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน นายดอนกล่าวถึงการหารือถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เป็นปัญหาของไทยและหลายประเทศว่า คุยกันในระดับหนึ่งถึงความร่วมมือที่มีหลากหลายในความเชื่อมโยงระหว่างจีน ไทยและอาเซียน รวมถึงกรณีลำน้ำโขงเคยขอให้ยกเลิกการระเบิดเกาะแก่ง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้านนายหวัง อี้กล่าวว่า ต้นน้ำของแม่น้ำโขง ขณะนี้เกิดภัยแล้งอยู่เช่นกัน แต่ทราบปัญหาภัยแล้งของไทย เห็นว่าต้องปล่อยให้น้ำไหลออกไปในปริมาณที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเสียหายอยู่บ้าง แต่เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งของไทยด้วย
สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง ที่ตลาดนัดโต้รุ่ง ต.บางปลาสร้อย อ.เมืองชลบุรี เกิดพายุฝนลมแรง ร้านค้าแผงลอยข้าวของกระจัดกระจาย และเต็นท์พังระเนนระนาด เช่นเดียวกับที่ตลาดนัดสุดตา ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เกิดลมกระโชกแรง ร้านค้าเสียหายไปกว่า 7 ร้าน โต๊ะและเก้าอี้ล้มเกลื่อน ส่วนที่ถนนสายเลียบทะเลชายหาดแม่รำพึง อ.เมืองระยอง ต้นหูกวางสูง 8 เมตรล้มขวางถนนกีดขวางการจราจร สายไฟฟ้าขาด ส่งผลให้ชาวบ้าน โรงแรมและรีสอร์ต ไฟดับหลายชั่วโมง
ที่อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี เกิดพายุฝนพัดถล่มและมีลมกระโชกแรง ส่งผลให้หลังคาอาคาร บ้านเรือนและโรงเรียนถูกพัดพังเสียหาย ไฟฟ้าดับในหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า และจัดจำหน่ายพรรณไม้ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบ้านอำเภอ ร้านค้าถูกลมพายุพัดพังเสียหาย ต้นไม้ขนาดใหญ่หักโค่นล้มทับรถยนต์ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานเร่งเข้าช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกิดพายุฝนหลังคาบ้านปลิวว่อน ด้านนายพงศ์สิน ชัยพิบูลย์ พ่อค้าอาหารตามสั่งเปิดเผยว่า ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ตนและครอบครัวนั่งอยู่ภายในร้าน หลังคาร้านปลิวไปเกือบหมด หม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่หน้าร้านระเบิดเสียงดังสนั่น ทำให้ไฟฟ้าดับหลายชั่วโมง กระทั่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแก้ไข ใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติ
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า พายุโซนร้อน “วิภา” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน เคลื่อนตัวค่อนมาทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าในวันที่ 2 ส.ค.พายุจะ เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย
ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ยังมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเล อันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
...
ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” จะทำให้เกิดฝนตกบริเวณแนวปะทะลมหน้าเขา จะส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มากขึ้น ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจจะติดตามแนวโน้มปริมาณฝนไหลเข้าอ่างฯ เพื่อปรับแผนการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำอยู่ในสภาวะน้ำน้อย แต่เนื่องจากมีฝนตกสะสมในบางพื้นที่ส่งผลให้น้ำในลำน้ำสายหลักบางสายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำชี เป็นต้น
ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งเตือนดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระบุว่า ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 2 - 3 วันนี้ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ตาก และกาญจนบุรี