ด้วยกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ มีปัญหาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่แห่งเดียว มีกากมะพร้าวเหลือทิ้งวันละ 2,000-3,000 กก. และยังมีน้ำหางกะทิที่ปล่อยทิ้งวันละ 7,000 ลิตร สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

นายประมวล ทรายทอง นักวิจัยในโครงการวิจัยน้ำหางกะทิและกากมะพร้าวที่เหลือทิ้ง สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า แต่เมื่อนำของเหลวที่มีส่วนผสมของน้ำหางกะทิเข้าห้องแล็บตรวจวิเคราะห์พบว่า ยังมีไขมัน โปรตีน และสารอาหารต่างๆในปริมาณมาก และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ จึงนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยได้รับทุนวิจัยจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มาตั้งแต่ปี 2559

“เพิ่งมาสำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้เป็นผลิตภัณฑ์มา 4 แบบ วุ้นสวรรค์จากน้ำหางกะทิ น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำหางกะทิผสมสมุนไพร ที่มีปริมาณกรดน้ำส้มมากกว่าในท้องตลาด 4% มีกลิ่นและสีแตกต่างกันไป มีสารสำคัญสูง เช่น สารฟีโนลิก สารต้านอนุมูลอิสระ และสารแอนโทไซยานิน”

...

ส่วนผลิตภัณฑ์อีก 2 ชนิดเป็น ซอสปรุงรสจากน้ำหางกะทิ มี 2 สูตร รสเค็มกับรสหวาน ที่หมักด้วยเชื้อราบริสุทธิ์สายพันธุ์ที่มีปริมาณกรดอะมิโนสูงถึง 2 เท่า และมีกรดอะมิโนจำเป็นมากกว่า 5 เท่า อีกทั้งยังมีปริมาณโซเดียมต่ำ (low sodium) เพราะผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสชนิดอื่นๆที่ผลิตอยู่บ้านเราได้มาจากการย่อยด้วยความร้อน ถือได้ว่าเป็นการผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โดยรสหวานเหมาะกับใช้เป็นเครื่องจิ้ม ผัด หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงในการหมักเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี จุดเด่นให้กลิ่นอ่อนๆของมะพร้าว และไม่มีส่วนผสมของแป้งและถั่วเหลือง จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการแพ้แป้งสาลีและถั่วเหลือง ส่วนรสเค็มสามารถใช้เป็นซอสจิ้มซีฟู้ด อาหารทะเล และเป็นส่วนผสมในอาหารญี่ปุ่น สนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ 08-6779-4123.