ระยะหลังๆมานี้...มักได้เห็นข่าววัยรุ่นหัวร้อนออกมาทำร้ายร่างกายคนอื่นจนได้รับ “บาดเจ็บ” หรือ “เสียชีวิต” มากขึ้น จนกลายเป็นอีกภาพสะท้อนปัญหาทางสังคมที่บ่งบอกว่าผู้คนในสังคมเรานั้นขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดสติ และไม่ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา
ตรงกันข้าม...กลับกลายเป็นการใช้ “อารมณ์” ที่กำลังเดือดพล่านเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็มีปัญหาตามมา กลายเป็นการ “แก้แค้น”... “จองเวร” ซึ่งกันและกัน ทั้งๆที่ปัญหาทั้งปวงควรป้องกัน...แก้ไขที่ต้นเหตุ
คำว่า “หัวร้อน” ศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นโดยที่ทุกคนทราบทันทีว่าเป็นอาการของคนที่ไม่สบกับอารมณ์ตนเอง...อาการการเกิดบันดาลโทสะขึ้นมาทันที พร้อมที่จะพูด...กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
โดยเฉพาะการทำลายโดยไม่สามารถควบคุมได้เลย
“คดีความ” ทางกฎหมายจึงมักนำไปใช้เป็นองค์ประกอบเพื่อ “แก้ตัว” หรือ “แก้ต่าง” ให้มีโทษจากหนักกลายเป็นเบาลงไป...น่าสนใจว่าคนที่หัวร้อนในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นเพียงเท่านั้น หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชีวิตและทุกคน ไม่เลือกเพศหรือวัยใดๆทั้งสิ้น รวมถึงพร้อมที่จะเกิดขึ้นกับทุกสถานการณ์...
ตราบใดที่อารมณ์ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นมา...การควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้จึงเป็นทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุด สำหรับกรณีเช่นนี้เราควบคุมอารมณ์ที่ร้อนแรงขึ้นมาได้ก็ชื่อว่าเราดับกิเลส คือ...โลภ โกรธ หลงของตัวเองได้ แต่ถ้าเราดับกิเลสของตนเองไม่ได้ ก็หมายความว่าเราตกเป็น “ทาสของกิเลส” ไปเสียแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่...“ดับกิเลส” ได้ก็กลายเป็น... “คนหมดทุกข์”
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า โลภะคือความโลภ โทสะคือความโกรธ และ โมหะคือความหลง จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง
...
“ความโลภเกิดขึ้นครั้ง...คราใด จิตใจที่เศร้าหมองก็จะติดตามมาทันทีและความโกรธรวมถึงความหลงก็เช่นเดียวกัน คนที่มีความโลภเป็นคนที่มีความอยากที่ไม่รู้จักพอ...เป็นคนที่ไม่รู้จักเสียสละหรือแบ่งปัน จะมุ่งหวังเอาประโยชน์แต่ส่วนตนเป็นที่ตั้งโดยมิได้คำนึงถึงหัวอกหรือความต้องการของคนอื่น จึงกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด”
คนเช่นนี้อยู่ในครอบครัวใด...สังคมใดแล้ว ครอบครัวนั้น...สังคมนั้นก็ย่อมจะมีแต่ความเดือดร้อน ไม่มีการเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ไม่มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นครอบครัวและสังคมที่อยู่ยากมากขึ้น
แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่รู้จักเสียสละ รู้จักให้อภัย รู้จักให้โอกาส รู้จักแบ่งปันแก่คนอื่นแล้ว คนเช่นนั้นจะกลายเป็นผู้สร้างครอบครัวและสังคมนั้นๆให้มีแต่ความสุข เพราะการแบ่งปันเป็นการกำจัดกิเลสตัวเราในเบื้องต้น
...คนที่ให้ย่อมเป็นที่รักของคนที่ถูกให้...คนที่ให้ย่อมเป็นคนรู้จักผูกมิตรที่ดี...คนที่ให้ย่อมเป็นผู้สร้างสังคมให้ปกติสุขและคนที่ให้โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้นย่อมเป็นการให้ที่ประเสริฐที่สุด
ดังนั้น “อโลภะ” คือ “ความไม่โลภ” ย่อมสร้างสังคมเราให้เกิด “ความสุข” อย่างยิ่ง
ถัดมา...“โทสะคือความโกรธ” ความฉุนเฉียวก็เป็นมหันตภัยของชีวิตอีกประการหนึ่งเพราะความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วขาดการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ก็จะเกิดการทำลายขึ้นมาจนกลายเป็นกรรมคือการกระทำที่สมบูรณ์
“เมื่อเกิดกรรมขึ้นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านชั่วแล้วไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงผลของการกระทำได้เลย ถ้าด้านดีก็สร้างสรรค์...ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเป็นด้านไม่ดีก็ย่อมเกิดการทำลาย สูญเสีย เดือดร้อนขึ้นมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย...ความโกรธจึงเป็นภัยอย่างมหันต์อีกประการหนึ่ง”
ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่าทุกชีวิตที่เกิดขึ้นล้วนต้องการความสุข ความสมหวัง ความปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น การรู้จักข่มใจตนเองมิให้โทสะเข้าครอบงำด้วยการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อเขาผิดพลาดไปก็รู้จักให้โอกาสและให้อภัย ขอให้มีความเมตตาปรานีสงสารสิ่งที่เขาผิดพลาดไป อย่าได้ไปซ้ำเติมชีวิตของเขา...
“ขอให้ส่งความปรารถนาดี ความหวังดี แผ่เมตตาไปบ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า อานิสงส์จากการแผ่เมตตาก็จะชักนำชีวิตของเขาให้พ้นทุกข์ สุดท้ายเรื่องร้ายก็จะกลายเป็นดี สังคมเราและโลกของเราก็จะสงบสุขเพราะเราไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนี่เอง...”
ถึงตรงนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันอีกสักหน่อยว่า “คนหัวร้อน”
มิใช่เป็นคนที่มีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนามาตั้งแต่กำเนิด หากแต่เป็นเพียงผู้คนที่ประสบกับเหตุการณ์ที่ตนเองรับไม่ได้เพียงเฉพาะหน้าแล้วไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ จึงเกิดการทำลายขึ้นมา
คนหัวร้อนมิใช่คนไม่ดีมาตั้งแต่กำเนิด คนหัวร้อนเป็นเพียงผู้คนที่ไม่รู้จักนำเอาธรรมะมาควบคุมจิตใจ จึงเกิดการทำลายจนกลายเป็น “คนไม่ดี” ไป
ในที่สุด...คนหัวร้อนเป็นบุคคลที่มีส่วนของคนอารมณ์แปรปรวนพอสมควร ถ้าเกิดอาการหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน หวาดระแวงก็จะเกิดความสับสนว่าคนอื่นจะมาทำร้ายหรือเอาชีวิตตนเอง
จึงจำเป็นต้องเกิดการป้องกันตัวด้วยการต่อสู้ ทำลายคนอื่นไปก่อน เพื่อตนเองจะได้อยู่รอดและอยู่ได้ ดังนั้นคนที่หัวร้อนจึงมีส่วนที่บ่งบอกว่าจิตใจของเขาไม่ปกติเสียแล้ว จะน้อยหรือมากก็อยู่ที่อาการ หัวร้อน นั่นเอง
เอาล่ะก็ให้รู้กันต่อไปอีกถึง วิธีแก้ไขปัญหา...คนหัวร้อนประการหนึ่ง คือการให้เขารู้จักรักษาศีลของตนเอง โดยเฉพาะชาวพุทธซึ่งเป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้รักษาศีลห้าอยู่แล้ว ขอให้รณรงค์...ปลูกฝังให้เกิดขึ้นในกมลสันดานของเขาให้ได้ เพราะศีลห้าเป็นพื้นฐานแห่งการปฏิบัติที่ดีงามของมนุษย์เรา
...
พระมหาสมัย ย้ำว่า ผู้ใดปฏิบัติได้ย่อมก่อให้เกิดแต่ความสุขและความเจริญในชีวิต ศีลย่อมรักษาผู้ประพฤติศีล ศีลย่อมคุ้มครองให้ผู้มีศีลอยู่เย็นเป็นสุข ศีลเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในโลก ศีลเป็นบ่อให้เกิดความสุข ความร่มเย็น ศีลสามารถป้องกัน...แก้ไขปัญหาของคนหัวร้อนได้อย่างดี
เมื่อความร่มเย็นเกิดขึ้นกับชีวิตจิตใจของเราแล้ว ความเร่าร้อน ความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจก็จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเมื่อมากระทบเราได้ สิ่งเลวร้ายก็จะกลายเป็นดี สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งๆขึ้นไป
และ...กุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งคือการรู้จัก “มีสติและปัญญา” สติคือการระลึกได้ คิดได้ ทำอะไร พูดอะไรก็ขอให้มีสติ คำว่าสติมิใช่ใช้เฉพาะคนที่มีธรรมะหรือคนที่เรียนธรรมะเท่านั้น แต่มีสติอยู่กับทุกคน สติจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้กระทำความผิด สติมีในบุคคลใดแล้วบุคคลนั้นถือว่าเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์”
แต่...ถ้าคนใดขาดสติเสียแล้วถือว่าเป็น “คนหลุดโลก” ไปในตัว
จึงพร้อมที่จะกระทำความผิดโดยไร้สติควบคุม...ส่วนคนที่มีปัญญาในการรู้จักแยกแยะปัญหา ใช้ปัญญาของตนเองที่มีอยู่นี้ไตร่ตรองอย่างละเอียดแล้วเข้าใจก็จะสามารถป้องกันการเป็น “คนหัวร้อน” ได้อย่างดี
“การเสียสละ...แบ่งปันซึ่งกันและกัน นอกจากเป็นการลดการเห็นแก่ตัวของเรา อีกด้านยังเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมโลกเดียวกัน...รู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง รู้จักชี้โทษตนเองเป็นที่ตั้ง รักษาศีลของตนเองให้ได้เพราะศีลจะเป็นผู้กำกับการกระทำทางกาย...ทางวาจา ส่วนธรรมะจะควบคุมกำกับทางใจ”
พระมหาสมัย ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน ฝากทิ้งท้ายว่า ปัญหาสำคัญในวันนี้...ผู้คนในสังคมขาดการนำเอาหลักธรรมคำสอนทางศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เราจึงควรมารณรงค์ให้ทุกชีวิตได้หันหน้าเข้าหาศาสนา รู้จักนำเอาธรรมะมาครองใจอย่างทั่วถึงกันเถิด.
...