โชว์วิถีวัฒนธรรม งานใหญ่ที่อุบลฯ มีผู้คน-ล้นหลาม
พุทธศาสนิกชนร่วมงานบุญแห่เทียนในวันเข้าพรรษากันอย่างเนืองแน่นที่ จ.อุบลราชธานี จัดขบวนแห่เทียน 53 ต้น อย่างอลังการ นักท่องเที่ยวชมงานนับหมื่นคน โคราช คึกคักขบวนแห่เทียนเหลืองอร่ามตระการตา ส่วนเมือง กรุงเก่าล่องเรือกว่า 200 ลำแห่เทียนเข้าวัด เพชรบุรีขนวัวเทียมเกวียนตั้งขบวนงานบุญ ขณะที่ชาวอ่างทองร่วมพิธีห่มผ้าพระนอนเสริมมงคลชีวิต
ชาวพุทธร่วมงานบุญแห่เทียนอลังการหลายจังหวัด เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ก.ค.ที่หน้าวัดศรีอุบลรัตนารามวรวิหาร ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี เป็นประธานเปิดขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้ชื่องาน “118 ปี เทียนพรรษา เทิดราชาขวัญแผ่นดิน” ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศนับหมื่นคนต่างไม่หนีไปไหนนั่งกางร่มรอชมขบวนแห่เทียนกันเต็มอัฒจันทร์ริม 2 ฝั่งถนน ในงานมีต้นเทียนเข้าร่วมประกวดจำนวน 53 ต้น แต่ละขบวนจะมีการแสดงของนักเรียน นักศึกษา ลูกหลานชาวจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมใจกันมาร่วมสืบสานประเพณีสำคัญของจังหวัด ถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนในช่วงค่ำมีการแสดงประกอบแสง สี เสียง บอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาวอีสาน นักแสดงล้วนเป็นลูกหลานชาวอุบลราชธานีรวม 3,000 ชีวิต
...
ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่องาน “แห่เทียนโคราช เสริมบุญ สร้างบารมี” พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถเทียนพรรษาและขบวนแห่การละเล่นพื้นเมืองขนบธรรมเนียมประเพณีเข้าพรรษาของแต่ละคุ้มวัด ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ต้องพ่นละอองน้ำฉีดใส่เทียนพรรษา เพื่อไม่ให้เทียนละลาย ในปีนี้มีขบวนเทียนพรรษา และขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ เข้าร่วมประกวดรวม 24 ขบวน เริ่มแห่ขบวนจากบริเวณแยกถนนราชดำเนิน เคลื่อนไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ระยะทางรวมกว่า 5 กม. แล้วมาจอดที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชมความงดงามอลังการของขบวนเทียนพรรษาอย่างใกล้ชิด
ที่วัดพระพุทธบาทภูพานคำ ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพานคำ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นักท่องเที่ยวเดินขึ้นบันได 1,049 ขั้น ไปถวายเทียนพรรษา หลอดไฟ และจตุปัจจัย เนื่องในวันเข้าพรรษา พร้อมทั้งกราบอธิษฐานขอพรหลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อภูพานคำ เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ชาวบ้านให้ความศรัทธา เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ขณะที่นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.บึงกาฬ เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษา พร้อมนำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาว ตักบาตรและเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดป่าสุดเขตแดนสยาม ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ เพื่อร่วมกันสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เช่นเดียวกับที่วัดพระบรมธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม พุทธศาสนิกชนมาทำบุญกันอย่างเนืองแน่น
ที่วัดยะหาประชาราม อ.ยะหา จ.ยะลา พุทธศาสนิกชนในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงใน จ.ยะลา และ จ.สงขลา นำดอกไม้ ธูปเทียน และปัจจัยร่วมทำบุญตักบาตรดอกไม้พระภิกษุ 21 รูป พร้อมทั้งนำดอกไม้สักการะรอยพระพุทธบาท เนื่องในวันเข้าพรรษา นับเป็นวัดหนึ่งเดียวในจังหวัดยะลาที่จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านใน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ตักบาตรที่สะพานซูตองเป้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมใน จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ที่คลองลาดชะโด หน้าตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านล่องเรือแห่เทียนพรรษากว่า 200 ลำ เข้าร่วมในงาน “สายน้ำแห่งศรัทธา เกริกก้องฟ้าชาวลาดชะโด” ตกแต่งประดับด้วยดอกดาวเรือง และดอกไม้สีเหลืองสวยงดงาม พร้อมมีการแสดงของเรือแต่ละลำสลับกัน ร้องรำทำเพลงตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลาดชะโดสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หลังจากแห่เทียน พรรษาไปตามคลองลาดชะโดความยาว 2 กม. ชาวบ้านจะนำเทียนไปถวายพระที่วัดลาดชะโด ส่วนที่วัดป้อมรามัญ อ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านนุ่งขาวห่มขาวออกมาทำบุญกันอย่างคึกคัก
นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.เพชรบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ขบวนวัวเทียมเกวียน ที่เทศบาลตำบลท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยปีนี้ชาวบ้านร่วมกันใช้วัวเทียมเกวียนมากถึง 270 ตัว และเกวียน 135 เล่ม ตกแต่งด้วยดอกไม้ ผ้าสีผูกที่เกวียน และแต่งตัวให้กับวัว เพื่อเป็นการสร้างสีสันให้สวยงาม ก่อนนำมาจัดเป็นขบวนแห่เทียนพรรษา และผ้าป่าถวายที่วัดเขาปากช่อง ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง ระยะทาง 4 กม.
...
จ.สุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายภูสิต สมจิตต์ รอง ผวจ.สุพรรณบุรี และนายนพฤทธิ์ ศิริโกศล ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมเป็นประธานเปิดงานแห่เทียนพรรษา ในขบวนจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วิถีการดำรงชีวิตของคนสุพรรณ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การแต่งกายย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้านจากทั้ง 10 อำเภอ ขบวนรถแห่เทียนพรรษาเริ่มเคลื่อนจากวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร วิ่งไปรอบตัวเมืองสุพรรณบุรี ผ่านถนนมาลัยแมน ผ่านแยกแขวง หอนาฬิกา แล้ววกกลับมาจอดโชว์ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เพื่อให้ประชาชนถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย
ด้านนายเรวัต ประสงค์ ผวจ.อ่างทอง ร่วมกับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีห่มผ้าพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน ที่วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เนื่องในวันเข้าพรรษา ผู้เข้าร่วมพิธีตั้ง ขบวนแห่ผ้าห่มพระนอน ทำจากผ้าผืนเล็กจำนวน 4,000 ชิ้น มาเย็บต่อกันมีขนาดความยาว 25 วา แล้วทำพิธีการแห่ผ้าวนรอบองค์พระนอน ช่วยกันชักเชือกดึงผ้าขึ้นไปห่มองค์พระ สำหรับพิธีการห่มผ้าพระนอนนั้นเป็นพิธีที่แสดงออกถึงการอนุรักษ์ความเป็นไทย และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวอ่างทอง เชื่อว่าการห่มผ้าพระนอนจะส่งผลบุญให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นแก่ตนเองและครอบครัว ส่วนชาวบ้านใน อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง จัดงานบุญ “แห่ม้าเต้น” มีม้าเข้าร่วมขบวนรวม 200 ตัว เป็นงานประจำปีเพื่อฉลองอัฐิ “หลวงพ่อเล็ก”อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง ในช่วงวันเข้าพรรษา