กลายเป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับอุตสาหกรรมโคนมไทยระบบ...การเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 และไทย-นิวซีแลนด์ บังคับใช้ในปี 2568
ที่น่าห่วงคือ เกษตรกรส่วนใหญ่นั้นเป็นรายย่อย มีศักยภาพการผลิตสู้ทั้งสองประเทศไม่ได้เลย โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตและราคาขาย
เพื่อเป็นการรองรับปัญหาในเบื้องต้น โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิตที่เป็นต้นตอของปัญหา ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ครั้งล่าสุด...จึงได้อนุมัติงบประมาณ 59.9 ล้านบาท ให้ กรมปศุสัตว์ และ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) นำไปพัฒนาการผลิตสินค้าโคเนื้อ และโคนม 2 โครงการ
โครงการแรก...ศึกษาศักยภาพการขุน คุณภาพซาก และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อ 5 สายพันธุ์ ในระบบการขุนเชิงการค้า ของกรมปศุสัตว์ จำนวน 4 ล้านบาท ได้แก่ โคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง โคเนื้อลูกผสมโคนม และโคเนื้อ โคเนื้อพันธุ์บราห์มัน โคเนื้อพันธุ์ตาก และโคเนื้อพันธุ์กบินทร์บุรี ที่เกษตรกรไทยนิยมเลี้ยง
โดยได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด จ.กำแพงเพชร ให้ใช้สถานที่และร่วมดูแลโคเนื้อระหว่างที่มีการศึกษาวิจัย
อีกโครงการ...จัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai Denmark Smart Dairy Farm) ของ อ.ส.ค. วงเงิน 55.9 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตเชิงธุรกิจประสิทธิภาพสูง หรือ “Smart Farm” มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง Hard ware และ Soft ware ช่วยในการบริหารจัดการฟาร์ม
ตั้งเป้าสามารถให้ผลผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยไม่น้อยกว่าตัวละ 20 กก./วัน โดยฟาร์มแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกร เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และการฝึกปฏิบัติของบุคลากรมืออาชีพมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล อันส่งผลในการกระตุ้นการบริโภคนมภายในประเทศ
...
เกษตรกรที่สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทุน FTA ได้ที่โทร. 0-2561-4727 หรือ Email : fta.oae@gmail.com ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.oae.go.th/FTA
สะ-เล-เต