จากกรณีที่มีสาวไทยวัย 47 ปี ป่วยเป็นโรคลายม์ เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งเธอติดเชื้อชนิดหนึ่งมาจากประเทศตุรกี จนเป็นเหตุให้เกิดอาการโคม่า หัวใจเต้นช้า หมดสติ และความทรงจำหายไปบางช่วงบางตอน

ล่าสุด นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ว่า กรณีหญิงสาวชาวไทยคนดังกล่าวมีการติดเชื้อจากต่างประเทศ และกลับมามีอาการภายในประเทศ โดยสาเหตุของโรคลายม์มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า แบคทีเรียโบเรลเลีย

สาเหตุของโรคลายม์

โดย แบคทีเรียโบเรลเลีย มาจากการที่ใครคนใดคนหนึ่งถูกเห็บที่มีเชื้อดังกล่าวกัด ฉะนั้น โรคลายม์จึงไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน แต่จะติดจากสัตว์ไปสู่คน ซึ่งเห็บดังกล่าว จะอาศัยอยู่กับสัตว์ต่างๆ เช่น สุนัข โค ม้า เป็นต้น

“การที่คนคนหนึ่งจะติดเชื้อชนิดนี้ จะต้องมาจากคนคนนั้นไปคลุกคลีกับสัตว์ที่มีเห็บ หรือเดินทางไปตามพื้นที่ที่มีเห็บอาศัยอยู่ เช่น เดินผ่านต้นไม้ หรือพุ่มไม้ที่มีเห็บเกาะอยู่ ซึ่งพุ่มไม้สามารถมีเห็บเกาะอยู่ได้ เนื่องจากสัตว์เดินเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วเห็บกระโดดออกมาเกาะอยู่ตามพุ่มไม้ต่างๆ”

...

ส่วนคำถามที่ว่า หากเห็บที่อยู่ในประเทศไทย กัดคนขึ้นมา จะทำให้คนคนนั้นป่วยเป็นโรคลายม์ได้หรือไม่? นายแพทย์สุวรรณชัย ตอบว่า ที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยายังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคลายม์ที่ติดเชื้อภายในประเทศ แต่เคยมีรายงานอยู่รายงานหนึ่งระบุว่า พบสุนัขในประเทศไทยตัวหนึ่งติดเชื้อแบคทีเรียโบเรลเลีย เพราะฉะนั้นจึงประเมินได้ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวในอัตราที่ต่ำมาก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่ออีกว่า หากคุณมีสัตว์เลี้ยงที่จำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน คุณควรดูแลเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ทำความสะอาด, ใส่ยาฆ่าเห็บ, พาไปพบสัตวแพทย์

อาการของโรคลายม์

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโรคลายม์ว่า อาการของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับเชื้อที่บุคคลนั้นๆ ได้รับ โดยเชื้อจะมีระยะเวลาฟักตัว 2-4 สัปดาห์ ถึงจะมีอาการ

ขณะที่ ลักษณะของอาการจะมีตั้งแต่ เป็นไข้, ปวดตามเนื้อตามตัว, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย แต่จะมีบางรายที่มีอาการ หัวใจเต้นผิดปกติ, เจ็บหน้าอก, มีปัญหาในเรื่องของการได้ยินที่ลดลง, กล้ามเนื้อหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ, ปวดข้อ, บริเวณที่โดนกัดจะมีผื่นวงแดง

“ส่วนกรณีที่หญิงสาววัย 47 ปีนั้นเกิดความทรงจำหายไปบางส่วนนั้น มาจากการที่โรคลายม์มีอาการออกไปหลายลักษณะ แม้จะใช้ยาปฏิชีวนะรักษา เพื่อทำให้แบคทีเรียมันตาย แต่ผลกระทบที่เชื้อแบคทีเรียทิ้งไว้ มันได้เข้าไปทำลายอวัยวะนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นระบบประสาท จึงทำให้มีผลตกค้างตามมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

“ในรายที่สมองได้รับผลกระทบ จนทำให้ลืม หรือจำเหตุการณ์ไม่ได้บางช่วงบางตอน ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีอาการนี้ทุกคน ฉะนั้น ต้องพิจารณากันไปเป็นกรณีๆ” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

รักษาหายได้หรือไม่?

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวถึงกระบวนการรักษาว่า “โรคดังกล่าวมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะฉะนั้นจะมียารักษาที่เฉพาะของมันอยู่ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ว่า มันมียาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ความยากมันอยู่ที่ว่า แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้เร็วหรือไม่

อย่างไรก็ดี นายแพทย์สุวรรณชัย แสดงความห่วงใย “ในแต่ละประเทศจะมีโรคประจำถิ่นของตัวเอง เพราะฉะนั้นประชาชนควรทำการบ้านก่อนเดินทางว่า ประเทศที่คุณกำลังจะเดินทางไปมีโรคลายม์ หรือโรคประจำถิ่นอื่นๆ อยู่หรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้รู้เท่าทัน และรู้จักป้องกันตนให้ดี”.

...