ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ หารือถึงกรณีค่าลิขสิทธิ์การเขียนหนังสือเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการจัดพิมพ์แบบเรียนก็จะต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่เขียนหนังสือเรียนจำนวน 3% จากการพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ในเมื่อ สพฐ.เป็นผู้ว่าจ้างให้นักเขียนมาแต่งตำราเรียนให้เหตุใดลิขสิทธิ์จึงไม่ตกเป็นของ สพฐ. อีกทั้งยังต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทุกปีรวมถึงค่าลิขสิทธิ์ยังตกเป็นมรดกของทายาทนักเขียนด้วยนั้น ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 นพ.ธีระเกียรติได้เซ็นคำสั่งยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องให้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการให้รางวัลหรือค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรหรือสื่อการเรียนรู้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2552 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

“ซึ่งหลังจาก รมว.ศธ.มีคำสั่งยกเลิกระเบียบดังกล่าว สพฐ.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อทบทวนแนวทางการให้ค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรว่ายังต้องดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากการจัดทำหลักสูตร หรือสื่อการเรียนรู้จะมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรขึ้น และในหนังสือเรียนแต่ละเล่มนั้นยังมีการนำบทความหรือบทกลอนจากผู้เขียนต่างๆมาใช้อยู่ โดยส่วนใหญ่ เป็นหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทย ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้แต่งบทความและบทกลอนนั้นๆ ดังนั้น สพฐ.จึงจำเป็นต้องสอบถามรายละเอียดเหล่านี้ไปที่กระทรวงการคลัง แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาที่ สพฐ.” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.