การนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุมากำจัดแมลงและไข่แมลง เป็นหนึ่งในนวัตกรรมข้าวไทย ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 2559 จนถูกนำมาใช้จริงในเชิงพาณิชย์

เป็นกระบวนการที่เรียกว่า UTD RF (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 27.12 MHz สามารถแทรกผ่านเข้าไปในชั้นโมเลกุลในเมล็ดข้าว ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนล้านๆครั้งในเวลาหนึ่งวินาที ก่อให้เกิดความร้อนสูง 55-60 C

ในระยะเวลา 3-5 นาที จะกำจัดแมลงและไข่ในข้าว โดย เฉพาะ จำพวกมอดได้ 100%

ทำให้ไม่ต้องใช้ สารเคมี หรือรมยาป้องกันแมลงเช่นเดิม ยืดอายุเก็บข้าวได้อีกเท่าตัว ที่สำคัญลดการสูญเสียระหว่างส่งออก เพราะวิธีเดิมไม่สามารถกำจัดมอดได้ 100% สุ่มเสี่ยงต่อการพบมอดได้อีกครั้งในระหว่างขนส่ง นั่นหมายความว่าสินค้าเราต้องถูกตีกลับ หรือไม่ก็เผาทิ้งทั้งลำเรือ แล้วแต่ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน

ล่าสุดเพื่อขยายผลสำเร็จให้เป็นต้นแบบของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงโรงสีภาคเอกชน จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคเอกชน ติดตั้งเครื่องกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ ให้กับโรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

เครื่องดังกล่าว มีราคาประมาณ 2 ล้านบาท มีกำลังการผลิตชั่วโมงละ 1 ตันข้าวสาร มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย กก.ละ 80 สตางค์ แม้จะแพงกว่าการรมแก๊สหรือใช้สารเคมีที่คิดเพียงตันละไม่ถึง 10 บาท...แต่ปลอดภัยในเรื่องสารตกค้าง และกำจัดมอด/แมลง 100%

ที่สำคัญหากมีใช้กันแพร่หลายในวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่มีโรงสี จะสร้างเม็ดเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรอีกครัวเรือนละ 120,000 บาท และภายใน 5 ปี จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวได้ 14,700 ล้านบาท หากแนวคิดที่ว่าใครสีผ่านกระบวนการนี้ จะได้รับตราสัญลักษณ์ และขายข้าวได้เพิ่มอีก กก.ละ 10 บาท เป็นจริง.

...

สะ–เล–เต