“ผัก ผลไม้ ถนอมเก็บรักษาไม่ดี เหี่ยวเน่าเสียง่าย เพราะมีการคายน้ำ ทำให้สูญเสียน้ำได้ตลอดเวลา ถุงทั่วไปที่ใช้บรรจุผักผลไม้แล้วนำไปแช่เย็น นำออกมาวางอุณหภูมิปกติ ภายในจะมีละอองน้ำเกาะ เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเน่าเสีย เราจึงนำปัญหานี้มาเป็นแนวทางในการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพ ให้มีคุณสมบัติลดอัตราการคายน้ำ ให้ผักเหี่ยวช้าลงและช่วยลดการสูญเสียวิตามินซี ใช้กับผลไม้จะช่วยชะลอการสุก ยืดอายุให้เก็บได้นานขึ้น”

รศ.ดร.อนงค์นาฎ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกถึงที่มาของการศึกษาวิจัยพัฒนา ผลิตถุงพลาสติกชีวภาพจากวัสดุภาคการเกษตร โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยมาตั้งแต่ปี 2559

โดยเลือกใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักแทนแป้งข้าวโพดเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนการทำให้พลาสติกชีวภาพมีคุณสมบัติช่วยลดการคายน้ำของผักผลไม้ ด้วยการเติมเชื้อจุลชีพลงไปในแป้งมันฯ เพื่อให้ถุงพลาสติกชีวภาพมีรูพรุน สามารถคายน้ำจากด้านในสู่ด้านนอก น้ำไม่มีตกค้างภายในถุง ส่งผลให้ผักผลไม้ไม่เน่าเสียเร็ว

...

ทำออกมาเป็นถุงพลาสติก 2 แบบ แบ่งตามการใช้งาน...สำหรับบรรจุผักและบรรจุผลไม้ซึ่งมีความเหนียวแตกต่างกัน

เมื่อนำไปให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดฟางปลอดสารพิษ บ้านหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ทดลองนำเห็ดฟางที่ตัดแต่งแล้วใส่บรรจุถุงปิดให้สนิท นำไปแช่ในตู้เย็นช่องปกติ สามารถรักษาคุณภาพ ของเห็ดฟางได้นานถึง 7 วัน โดยเห็ดฟางคุณภาพยังคงสดใหม่

ในขณะที่เห็ดฟางบรรจุถุงทั่วไปนำไปแช่ตู้เย็น 12-20 ชั่วโมง ดอกเห็ดเริ่มเป็นสีคล้ำ ดอกบาน มีเมือก แสดงอาการเริ่มเน่า

ส่วนการทดสอบถุงสำหรับผลไม้ ด้วยการใส่มะม่วงปิดให้สนิท นำไปแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 12ํํC เก็บได้นาน 14 วัน มะม่วงไม่มี ความเปลี่ยนแปลง และเมื่อนำออกจากตู้เย็นวางไว้ที่อุณหภูมิ 25ํํC อยู่ในถุงได้นานอีก 7 วัน มะม่วงน้ำดอกไม้จะเริ่มสุกมีกลิ่นหอม ไม่มีการเน่าเสีย

ต่างจากมะม่วง ใส่ถุงทั่วไปเป็นยังไง ใช้วิธีเดียวกันแต่เก็บได้แค่ 9-14 วัน มะม่วงจะสุกจัด ผิวผลมีจุดสีน้ำตาล นำออกจากตู้เย็นมาต้องทิ้งอย่างเดียว

ดร.อนงค์นาฎ ยังได้บอกถึงความแตกต่างของถุงพลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นมากับถุงพลาสติกทั่วไป...หากนำไปฝังกลบในดินที่มีความชื้น จะกลายเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ ใช้เวลาย่อยสลาย 4 เดือน ภายใน 6 เดือน ถุงจะเป็นเนื้อเดียวกับดิน กลายเป็นอินทรียวัตถุ ส่วนถุงพลาสติกทั่วไปแม้จะย่อยสลายรวดเร็ว แต่ยังคงหลงเหลือเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ซึ่งกำจัดยาก

ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกที่สนใจนำถุงพลาสติกชีวภาพไปทดลองใช้ ติดต่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ที่อีเมล gardenfresh.th@gmail.com  และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Garden Fresh.

เพ็ญพิชญา เตียว