นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ปัญหาการใช้สารเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ ผู้ติดสารเสพติดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิต มีภาวะหวาดระแวง ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์ผู้ใช้สารเสพติดของไทย พบผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใน 1 ปี มีจำนวน 1.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้สารเสพติด 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการบำบัดของกรมสุขภาพจิต 24,196 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง 577 คน
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่าในปี 2561 โดยประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และใช้แนวทางการสังเกตจาก 7 สัญญาณเตือนผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดก่อความรุนแรง คือ 1.ขีดข่วนหรือกรีดตัวเองเป็นรอยแผล 2.ส่งเสียงดังหรือตะโกนด่าด้วยคำหยาบคายรุนแรง 3.ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 4.ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 5.พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล 6.รื้อขว้างปาข้าวของกระจัดกระจาย และ 7.ทำลายสิ่งของจนแตกหัก โดยสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร.1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำตัวเข้ารักษาที่ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจิตเวช.