ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เสาหลักที่ 4 การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมาย...ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ลดความเสียหายจากอุทกภัย คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
เพื่อสอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว กรมชลประทานได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีออกมามากกว่า 40 ชิ้น...ล่าสุดได้คลอดอีก 2 นวัตกรรม เพื่อนำมาใช้รับมือฤดูฝนในปีนี้
“ระบบติดตามเครื่องจักรกล” เพื่อใช้ในการควบคุมติดตามเครื่องจักรเครื่องมือของกรมชลประทานกว่า 3,000 รายการ ที่จะออกปฏิบัติหน้าที่ในฤดูฝนปีนี้ ช่วยให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) สามารถติดตามสถานะการทำงาน และตรวจหาตำแหน่งเครื่องจักรได้แบบ Real Time
วิธีการใช้งานเมื่อ SWOC วิเคราะห์และประมวลผลได้ว่า พื้นที่ใดต้องการเครื่องจักร เครื่องมือที่อยู่ใกล้สุดจะถูกสั่งการจาก SWOC ให้ออกปฏิบัติงาน พร้อมรายงานผลการทำงานทันที นอกจากนี้ยังจะทำให้ทราบสภาพการณ์ของเครื่องจักรนั้นๆอีกด้วยว่า อยู่ในสภาพใช้งานได้แค่ไหน
ขณะนี้ผลิตออกมาแล้ว 10 ชุด นำร่องใช้ในพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำหลากสูง และตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ชุด เพื่อใช้ในพื้นที่ทั่วประเทศ
อีกนวัตกรรม “เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก Version 3” เก็บวัชพืชได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือวันละ 60 ตัน สามารถเพิ่มออกซิเจนในน้ำและลุยเหยียบไปบนผักตบชวาได้ สิ้นเปลืองน้ำมันชั่วโมงละ 1.2 ลิตร ด้วยมีขนาดเล็กกว้างเพียง 1.7 เมตร จึงมีประสิทธิภาพเข้าทำงานในคลองที่เล็กแคบได้เป็นอย่างดี มีความคล่องตัว ง่ายต่อการขนส่ง
ในเบื้องต้นกรมชลประทานได้ผลิตลอตแรก 100 ลำ เพื่อนำไปใช้งานในลุ่มเจ้าพระยาก่อน
...
นี่เป็นเพียง 2 ในหลายนวัตกรรม ที่จะนำออกมาใช้แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในปีที่กรมชลประทานมีอายุครบ 117 ปี ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 118.
สะ-เล-เต